คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6466/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ฟ้องจำเลยและ ว. ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารต่อศาลยุติธรรม แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าคู่ความที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยาน แต่จำเลยไม่ได้ยื่นคำร้อง เป็นกรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ และเมื่อศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว จำเลยย่อมไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาได้
การนำข้อเท็จจริงที่ไม่ได้กล่าวในฟ้องมาพิพากษาลงโทษจำเลย แม้เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 157 เช่นเดียวกัน ก็ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 161, 162 (4), 86, 90 และ 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 และ 162 (4) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 25 กระทง เป็นจำคุก 125 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) (ที่ถูก ข้อหาอื่นให้ยก)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องสำหรับข้อหาเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต และข้อหาเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จในการปฏิบัติการตามหน้าที่ (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 162 (4)) สำหรับโทษและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยรับราชการทหาร ตำแหน่งหัวหน้านายทหารการเงิน แผนกการเงิน โรงเรียนนายเรืออากาศ มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลการเบิกเงิน รับ – จ่ายเงิน เก็บรักษาเงินและการบัญชีของโรงเรียนนายเรืออากาศ ส่วนนางสาววิชุดา เป็นลูกจ้างชั่วคราวรายวันโรงเรียนนายเรืออากาศ มีหน้าที่รวบรวมหลักฐานการขอเบิกเงินค่าอาหารประจำวันประกอบการเลี้ยงนักเรียนโรงเรียนนายเรืออากาศ จัดทำใบขออนุมัติเบิกเงิน เขียนเช็ค ขออนุมัติเบิกจ่ายจากบัญชีเงินการเลี้ยงทหาร และจ่ายเงินให้แก่หน่วยผู้เบิก ต่อมาสำนักงานตรวจบัญชีทหารอากาศ และคณะกรรมการสอบสวนผู้รับผิดชอบบัญชีเงินการเลี้ยงทหารตรวจสอบพบว่ามีการจ่ายเงินในบัญชีเงินการเลี้ยงทหารสูงกว่าใบสำคัญขอเบิกรวมจำนวน 25 งวด จำนวน 213,001 บาท แล้วเบียดบังเงินส่วนเกินนั้นเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ และมีการแก้ไขจำนวนตัวเลขในสมุดเงินสดจ่ายเพื่อให้จำนวนตัวเลขตรงกับที่แก้ไข ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนของกองทัพอากาศสอบสวนแล้วมีความเห็นว่าจำเลยและนางสาววิชุดาร่วมกันเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วเห็นว่ามีมูลว่าจำเลยและนางสาววิชุดาร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าว ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยรับราชการทหารเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการทั้งนางสาววิชุดาก็เป็นพลเรือนสังกัดอยู่ในราชการทหารกระทำความผิดในหน้าที่ราชการทหาร คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลทหารนั้น เห็นว่า แม้จะฟังได้ว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยและนางสาววิชุดาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร แต่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรม เพื่อให้ศาลที่รับฟ้องจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลโดยเร็ว เมื่อจำเลยไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวโดยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลยุติธรรมที่รับฟ้องคดีนี้ก่อนวันสืบพยาน เป็นการไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ และเมื่อศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว จำเลยย่อมไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาได้เนื่องจากเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 และ 162 (4) ดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดี การทุจริตเกิดจากการกระทำของนางสาววิชุดาที่เป็นผู้ปฏิบัติลงรายการยอดเงินรวมในสรุปยอดรวมรับจ่ายเงินในใบขออนุมัติถอนเงินและเช็คจำนวนเงินสูงกว่าหลักฐานการขอเบิกและดำเนินการเบิกและจ่ายเงินให้แก่ผู้ขอเบิก ทั้งสมุดเงินสดจ่าย สมุดเงินจ่ายอื่นที่ลงรายการดังกล่าวอยู่ในความครอบครองดูแลรับผิดชอบของนางสาววิชุดา ที่อ้างว่าจำเลยมีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วยก็มีเพียงคำซัดทอดของนางสาววิชุดาเท่านั้นที่ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งให้กระทำทุจริตลงยอดเงินเกินหลักฐานการจ่ายที่ถูกต้อง แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่ได้นำนางสาววิชุดามาเบิกความต่อศาลยืนยันว่า จำเลยกระทำความผิดดังกล่าว เพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสซักค้าน ลำพังคำให้การของนางสาววิชุดาต่อคณะกรรมการสอบสวนของกองทัพอากาศนั้นมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลย มีน้ำหนักน้อย ทั้งทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าเงินส่วนเกินจากหลักฐานการเบิกจ่ายเงินจำเลยเป็นผู้รับไปและเบียดบังเป็นประโยชน์ส่วนตัว การที่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีแก่นางสาววิชุดาที่ให้การซัดทอดว่าจำเลยเป็นผู้สั่งให้กระทำทุจริต และไม่อนุญาตให้นางจุฑามาศ ตรวจสอบบัญชีเงินการเลี้ยงอาหารที่นางสาววิชุดารับผิดชอบก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ชัดแสดงว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดกับนางสาววิชุดา ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกับนางสาววิชุดาเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 หรือจำเลยมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสารกระทำการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในความผิดดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยที่ร่วมกับนางสาววิชุดาเขียนกรอกเลขจำนวนเงินลงในใบขออนุมัติเบิกเงินและเช็คเพื่อขอถอนเงินจากบัญชีเงินการเลี้ยงทหารสูงกว่าจำนวนเงินค่าอาหารตามหลักฐานใบสำคัญที่ขอเบิกมาแล้วเบียดบังเงินส่วนเกินไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต และร่วมกับนางสาววิชุดากระทำการรับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จนั้น เป็นการที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โรงเรียนนายเรืออากาศ กองทัพอากาศ และประชาชน หรือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกับนางสาววิชุดากระทำความผิดดังกล่าวตามฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลการเบิกเงิน รับ – จ่ายเงิน เก็บรักษาเงินและการบัญชี ไม่ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินตามฟ้องให้ถูกต้องจนเกิดความเสียหายเป็นความบกพร่องละเลยไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่ราชการ เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นการนำข้อเท็จจริงที่ไม่ได้กล่าวในฟ้องมาพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเป็นการพิพากษาในข้อที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นการไม่ชอบ และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share