คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10492/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกา มีพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ใช้บังคับ โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสิบห้าในส่วนโทษปรับและการริบทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1), 82 และ 98 และ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 69, 147 วรรคหนึ่ง และ 169 จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยทั้งสิบห้า ตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก ซึ่งมาตรา 69 (เดิม) บัญญัติว่า เครื่องมือทำการประมง เรือ สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะริบเสียก็ได้ แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 19 หรือมาตรา 20 ให้ศาลริบสิ่งเช่นว่านั้นเสียทั้งสิ้น และมาตรา 70 (เดิม) บัญญัติว่า เครื่องมือทำการประมงที่ได้มีประกาศตามความในมาตรา 32 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้โดยเด็ดขาดนั้น ถ้านำมาใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ ให้ศาลริบเครื่องมือนั้นเสีย เมื่อจำเลยทั้งสิบห้าใช้เรือยนต์ประมงในการกระทำความผิดและนำเครื่องมืออวนล้อมจับอันเป็นเครื่องมือทำการประมงที่ได้มีประกาศห้ามใช้โดยเด็ดขาดมาใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ริบจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบห้าตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 32 (1) (2), 65, 69, 70, 71 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 282 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลางทั้งหมด กับให้จำเลยทั้งสิบห้าจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับเรียงตามรายตัวจำเลยในอัตราไม่เกิน 1,000 บาท
จำเลยทั้งสิบห้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบห้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 32 (1) (2), 65 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 282 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท จำเลยทั้งสิบห้าให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำเลยที่ 1 รวม 2 กระทง จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 จำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 2,500 บาท โทษจำคุกจำเลยทั้งสิบห้าให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสิบห้าชำระเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับคนละ 500 บาท ริบสัตว์น้ำเบญจพรรณของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 2 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบเครื่องมืออวนล้อมจับและเรือยนต์ประมงของกลางด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์มิได้มีคำขอให้ริบเรือยนต์ประมงและเครื่องมืออวนล้อมจับของกลาง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ริบเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจศาลแขวง ซึ่งปรากฏตามบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจา ลงวันที่ 27 มีนาคม 2558 ว่า โจทก์ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มาตรา 32 (1) (2), 65, 69, 70, 71 และมีคำขอให้ริบของกลางทั้งหมด อันได้แก่ เรือยนต์ประมง เครื่องมืออวนล้อมจับ และสัตว์น้ำเบญจพรรณ แต่ในบันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพ และคำพิพากษา ศาลชั้นต้นบันทึกในส่วนคำขอให้ริบของกลางเพียงว่า โจทก์ขอให้ริบสัตว์น้ำเบญจพรรณของกลาง แล้วพิพากษาให้ริบเฉพาะสัตว์น้ำเบญจพรรณของกลาง จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และเนื่องจากระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกา มีพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ใช้บังคับ โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสิบห้า ในส่วนโทษปรับและการริบทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1), 82 และ 98 และพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 69, 147 วรรคหนึ่ง และ 169 จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยทั้งสิบห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรก ซึ่งมาตรา 69 (เดิม) บัญญัติว่า เครื่องมือทำการประมง เรือ สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะริบเสียก็ได้ แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 19 หรือมาตรา 20 ให้ศาลริบสิ่งเช่นว่านั้นเสียทั้งสิ้น และมาตรา 70 (เดิม) บัญญัติว่า เครื่องมือทำการประมงที่ได้มีประกาศตามความในมาตรา 32 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้โดยเด็ดขาดนั้น ถ้านำมาใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ ให้ศาลริบเครื่องมือนั้นเสีย เมื่อจำเลยทั้งสิบห้าใช้เรือยนต์ประมงในการกระทำความผิดและนำเครื่องมืออวนล้อมจับอันเป็นเครื่องมือทำการประมงที่ได้มีประกาศห้ามใช้โดยเด็ดขาดมาใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ริบนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน

Share