คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6463/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำผิดอาญาฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ซึ่งมีประเด็นว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่าทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากโจทก์แล้วจำเลยผิดสัญญา ขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ คดีอาญาถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่า สัญญากู้มิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งจึงฟังไม่ได้ว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ หนี้ตามเช็คเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายพิพากษายกฟ้องแต่คดีนี้มีประเด็นว่าจำเลยทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากโจทก์หรือไม่จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ เมื่อโจทก์ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในสัญญากู้แล้ว จึงมิใช่ประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คดีก่อนศาลวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เพราะเป็นหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย แต่คดีนี้มีประเด็นวินิจฉัยว่าจำเลยทำสัญญากู้และรับเงินกู้จากโจทก์หรือไม่ จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2536 จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 300,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจะชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2536 ต่อมาจำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ และเมื่อถึงกำหนดชำระต้นเงินคืนจำเลยก็ไม่ชำระรวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น520,808.22 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 520,808.22 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินจากโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้า จำนวน 300,000 บาท ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันต่อมาโจทก์แก้ไขเดือนที่ลงในเช็คแล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยและได้นำเอกสารสัญญากู้ท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ไปอ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีของศาล ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2538 ของศาลชั้นต้น ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ เนื่องจากสัญญากู้มิได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องซ้ำ และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระต้นเงินเสร็จสิ้นแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 และออกเช็คเอกสารหมาย จ.4 ให้แก่โจทก์ ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวโจทก์จึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2538 ของศาลชั้นต้น ในข้อหาออกเช็คโดยเจตนาที่จะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค ศาลฎีกาพิพากษาว่า สัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ไม่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ ถือว่าสัญญากู้มิได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง จึงฟังไม่ได้ว่ามีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ ดังนั้น หนี้ตามเช็คที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิด พิพากษายกฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2538 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2538 ดังกล่าวนั้น โจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คซึ่งมีประเด็นว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่าจำเลยทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากโจทก์แล้ว จำเลยผิดสัญญา ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ กรณีในคดีอาญานั้น คดีถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่า สัญญากู้มิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ เอกสารจึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง จึงฟังไม่ได้ว่ามีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้หนี้ตามเช็คเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิด พิพากษายกฟ้อง แต่คดีนี้มีประเด็นวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากโจทก์หรือไม่ จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ เมื่อโจทก์ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในสัญญากู้แล้ว กรณีจึงมิใช่ประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2538 ของศาลชั้นต้น และที่จำเลยฎีกาว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2538 ของศาลชั้นต้นนั้น ในคดีก่อนศาลวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เพราะเป็นหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย แต่คดีนี้มีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยทำสัญญากู้และรับเงินกู้จากโจทก์หรือไม่ จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง”

พิพากษายืน

Share