แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองกับพวกดื่มสุราอยู่ด้วยกัน แล้วจำเลยที่ 2 ให้ผู้ตายดื่มสุรา ผู้ตายไม่ดื่ม พวกจำเลยพูดว่าถ้าไม่ดื่มจะถูกตบ ผู้เสียหายพูดว่าไม่ดื่มแค่นี้จะถูกตบด้วยหรือ จำเลยที่ 1 ใช้แก้วสุราตบหน้าผู้เสียหายจนล้มลงแล้วลุกขึ้น จำเลยที่ 1 ชักปืนออกมา ผู้ตายวิ่งหนีผู้เสียหายวิ่งตาม จำเลยที่ 1 ยิงปืน 2 นัด ถูก ผู้ตายถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป เมื่อถึงคอสะพานก็จอดให้จำเลยที่ 2นั่งซ้อนท้ายไปด้วย ดังนี้ การยิงผู้ตายและเอารถจักรยานยนต์ ของผู้เสียหายไปเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วย ทั้งเหตุที่ จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายก็เนื่องจากผู้ตายไม่ยอมดื่มสุรา มิใช่ประสงค์จะแย่งชิงรถของผู้เสียหาย การเอารถไปก็เพื่อ จะหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมหลังจากที่ได้กระทำผิด ฐานฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และฐานลักทรัพย์ตาม มาตรา 335 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีความผิด
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ให้ประหารชีวิต ตามมาตรา 335 จำคุก 3 ปี พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองไม่รับอนุญาต จำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานพกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะหรือหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำคุก 6 เดือน รวมเป็นโทษประหารชีวิต กับจำคุก 5 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ลดโทษให้1 ใน 3 ลดเป็นจำคุกตลอดชีวิต และจำคุก 3 ปี 4 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 53 ปี 4 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก หัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลางให้ริบ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6), 340, 340 ตรี, 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 289(6) ซึ่งเป็นบทหนัก สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 2 อายุ 18 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ 1 ใน 3 จำคุกตลอดชีวิต คำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน สำหรับจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีก 2 ข้อหา รวมโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 1 ถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิตกระทงหนึ่งแล้ว จึงให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6),340, 340 ตรี, 83 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว แม้ขณะเกิดเหตุโจทก์จะมีประจักษ์พยานเพียงคนเดียว คือผู้เสียหายซึ่งเบิกความว่า คืนเกิดเหตุผู้เสียหายขับขี่รถจักรยานยนต์ไปหาพระที่วัดบางศรีเพชร โดยมีผู้ตายนั่งซ้อนท้ายไปด้วย เมื่อไปถึงวัดแล้วผู้เสียหายเข้าไปซื้อไม้ขีดไฟที่ร้านค้า ข้างวัดโดยจอดรถไว้ห่างจากหน้าร้าน 5 เมตร และผู้ตายรออยู่ข้างนอก ผู้เสียหายพบจำเลยทั้งสองกับพวกรวม 6 – 7 คนกำลังนั่งดื่มสุราอยู่ในร้าน ในร้านเปิดไฟนีออนแสงสว่างส่งไปถึงรถที่จอดไว้ พวกจำเลยทั้งสองคะยั้นคะยอให้ผู้เสียหายดื่มสุราและขอบุหรี่ผู้เสียหาย เมื่อดื่มสุราและให้บุหรี่แล้วผู้เสียหายเดินไปที่รถ จำเลยที่ 2 และพวกอีกคนหนึ่งเดินตามไปด้วย จำเลยที่ 2 ส่งแก้วสุราให้ผู้ตายซึ่งอยู่ที่รถดื่มผู้ตายไม่ดื่ม พวกจำเลยทั้งสองคนหนึ่งซึ่งยังนั่งอยู่ในร้านพูดว่าถ้าไม่ดื่มเดี๋ยวจะถูกตบ ผู้เสียหายพูดว่าไม่ดื่มแค่นี้จะถูกตบด้วยหรือ แล้วพวกจำเลยทั้งสองทั้งหมดก็ออกมาจากร้าน จำเลยที่ 1 ใช้แก้วสุราตบหน้าผู้เสียหาย ผู้เสียหายล้มลงแล้วลุกขึ้น จำเลยที่ 1 ชักปืนสั้นออกมาจากเอว ผู้ตายวิ่งหนีและผู้เสียหายวิ่งตามไปได้ 10 กว่าก้าวมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ผู้เสียหายหันไปมอง เห็นจำเลยที่ 1 จ้องปืนไปทางผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงหมอบลงที่กอหญ้า จากนั้นเสียงปืนดังขึ้นอีก 1 นัดแล้วจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายหลบหนีไป ห่างที่เกิดเหตุประมาณ 10 เมตรถึงคอสะพาน จำเลยที่ 1 ก็จอดรถให้จำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายหลบหนีไปด้วย พวกจำเลยทั้งสองที่เหลืออยู่ก็หลบหนีไปด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายเดินไปพบผู้ตายนอนอยู่ มีบาดแผลถูกยิงที่ด้านหลัง ผู้ตายพูดไม่ได้และถึงแก่ความตายในเวลาใกล้เคียงกันนั้น ผู้เสียหายไปแจ้งความแก่ตำรวจในคืนเกิดเหตุโดยระบุลักษณะของคนร้ายด้วย ตำรวจพาผู้เสียหายไปยังที่เกิดเหตุ คืนนั้นผู้เสียหายนอนที่สถานีตำรวจ รุ่งขึ้นตำรวจพาผู้เสียหายไปยังบ้านหลังหนึ่งที่ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ พบจำเลยทั้งสองอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว กับพบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจอดอยู่ด้วย ผู้เสียหายจึงชี้ให้ตำรวจจับจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์ก็มีร้อยตำรวจเอกเร่า สิบตำรวจโทสมบัติ ทรงสว่างและพันตำรวจตรีเกริกพนักงานสอบสวนเบิกความสนับสนุน โดยร้อยตำรวจเอกเร่าเบิกความว่า เมื่อได้รับแจ้งความจากผู้เสียหาย พยานพาผู้เสียหาายไปยังที่เกิดเหตุในคืนเกิดเหตุ นอกจากตรวจสถานที่เกิดเหตุและทำแผนที่เกิดเหตุแล้ว พยานสืบทราบจากชาวบ้านว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงคือนายสมชายหรือท้วมจำเลยที่ 1 จึงไปค้นบ้านของจำเลยที่ 1 ในตอนเช้ามืดของวันที่ 20 กรกฎาคม 2524 เมื่อไม่พบจำเลยที่ 1 ก็ติดตามไปที่บ้านพ่อเลี้ยงของจำเลยที่ 1 ในตอนเช้าของวันเดียวกันนั้นและจับจำเลยทั้งสองได้ ชั้นจับกุม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพส่วนจำเลยที่ 2 รับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ร่วมกระทำผิดสิบตำรวจโทสมบัติเบิกความว่า พยานร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองด้วย ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและจำเลยที่ 2 รับว่าได้ร่วมหลบหนีไปกับจำเลยที่ 1 ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.4 และพันตำรวจตรีเกริกเบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น กับข้อหาฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ให้การภาคเสธในข้อหาฐานทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและแสดงท่าทางให้ถ่ายภาพไว้ โดยจำเลยที่ 2 ร่วมนำชี้และร่วมแสดงท่าทางด้วย พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย คำของนางแก้วตาพยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้าที่เบิกความว่า เมื่อผู้เสียหายออกจากร้านพยานเดินไปที่รถ จำเลยทั้งสองกับพวกเดินตามออกไปด้วย สักครู่หนึ่งเขาต่อยกันพยานรีบปิดร้านและปิดไฟที่ชายคากับไฟในร้าน จากนั้นเสียงปืนจึงดังขึ้น 2 นัด ทั้งคืนเกิดเหตุเดือนมืด เป็นทำนองว่าผู้เสียหายไม่สามารถเห็นคนร้ายที่ใช้ปืนยิงเพราะไม่มีแสงสว่างนั้น แต่นางแก้วตาเบิกความตอบคำถามของทนายจำเลยที่ 1 และให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.3 ว่า หลังจากเสียงปืนดังขึ้นแล้ว พยานจึงปิดไฟ แสดงว่านางแก้วตาเบิกความบิดเบือนเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำของนางแก้วตาจึงไม่ทำให้น้ำหนักพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เสียไป สำหรับเรื่องความรับผิดของจำเลยทั้งสอง พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองกับพวกดื่มสุราอยู่ด้วยกันแล้วจำเลยที่ 2 ให้ผู้ตายดื่มสุรา ผู้ตายไม่ดื่ม พวกของจำเลยทั้งสองพูดว่าถ้าไม่ดื่มเดี๋ยวจะถูกตบ ผู้เสียหายพูดว่าไม่ดื่มแค่นี้จะถูกตบด้วยหรือ จำเลยที่ 1 ใช้แก้วสุราตบหน้าผู้เสียหาย ผู้เสียหายล้มลงแล้วลุกขึ้น จำเลยที่ 1 ชักปืนสั้นออกมา ผู้ตายวิ่งหนีและผู้เสียหายวิ่งตาม จำเลยที่ 1 ยิงปืนขึ้น 2 นัด กระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตายจากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป เมื่อถึงคอสะพานก็จอดให้จำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปด้วยเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายและเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวโดยจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วย ทั้งเหตุที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายก็เนื่องจากผู้ตายไม่ยอมดื่มสุรา มิใช่ประสงค์จะแย่งชิงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย และการที่จำเลยที่ 1 เอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปก็เพื่อจะหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมหลังจากที่ได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาาญา มาตรา 288 และฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 3335 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีความผิด
ปัญหาข้อต่อไปที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและฐานพกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะหรือหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงถึงที่สุดแล้วศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 335, 91 พระราชชบัญญัติอาาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7,8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 พ.ศ. 2519 ข้อ 3, 6, 7 สำหรับความผิดตามมาตรา 288 จำคุกตลอดชีวิตและความผิดมาตรา 335 จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 เป็นจำคุก 35 ปี 4 เดือน บวกกับโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธาณะหรือหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งถึงที่สุดตามคำพิพากษาชั้นต้นอีก 1 ปี 4 เดือน รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 36 ปี 8 เดือน หัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลางให้ริบ กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาอื่นและคดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2”