แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ขับขี่ที่จะได้รับโทษหนักขึ้นตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา 160 วรรคสอง นั้น หมายถึงกรณีที่ขับขี่รถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นแล้วผู้ขับขี่ได้หลบหนีไปจากที่เกิดเหตุโดยไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 78 และการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย หาใช่หมายถึงการขับขี่รถในทางก่อให้เกิดความเสียหายเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย แล้วผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 78 ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 160 วรรคแรก ไม่
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78,157, 160 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 1 ปี ฐานไม่หยุดช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำคุก 3 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78, 160 วรรคแรก ปรับ 1,000 บาท ฟ้องโจทก์นอกจากนี้ให้ยก โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยได้ขับขี่รถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน นน. 80-0259 จากสี่แยกประตูน้ำเข้ามาตามถนนมหาวงค์ ในขณะเดียวกันนายฐิติ จันตาอินทร์ผู้ตาย ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ออกจากประตูที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดน่านซึ่งตั้งอยู่ข้างถนนมหาวงค์ทางด้านซ้ายของรถที่จำเลยขับขี่มา รถยนต์คันของจำเลยได้ชนกับรถจักรยานยนต์คันของผู้ตายและทับผู้ตายถึงแก่ความตายทันที เกิดเหตุแล้วจำเลยหลบหนีไปไม่อยู่ช่วยเหลือผู้ตายตามสมควร ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้ขับขี่รถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ และการที่จำเลยขับขี่รถชนกันจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วจำเลยหลบหนีไปไม่หยุดช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสองหรือไม่
ตามปัญหาข้อแรกนั้น โจทก์คงมีเพียงจ่าสิบตำรวจหญิงบัวมัน พลธนู ซึ่งเสร็จจากการเข้าไปโทรเลข ณ ที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดน่านออกมา กับร้อยตำรวจตรีอดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ พนักงานสอบสวนมาเบิกความเป็นพยานสนับสนุนคดีโจทก์ แต่ตามคำของพยานโจทก์ทั้งสองประกอบกับแผนที่เกิดเหตุและภาพถ่ายที่เกิดเหตุที่ร้อยตำรวจตรีอดุลย์ทำไว้ ไม่ได้ความเป็นหลักฐานแต่อย่างใดว่า จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงมากน้อยเพียงใดขณะเกิดเหตุจำเลยพอมองเห็นรถจักรยานยนต์ของผู้ตายแต่ไกล สามารถที่จะชะลอรถหรือหยุดรถให้รถจักรยานยนต์ของผู้ตายเลี้ยวผ่านไปก่อนได้และถนนที่เกิดเหตุเป็นถนนคับขันในขณะที่เกิดเหตุมีการจราจรพลุกพล่าน แต่กลับได้ความจากคำพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้ว่า ผู้ตายขับขี่ รถจักรยานยนต์ออกจากที่ทำการไปรษณีย์ผ่านประตูทางออกซึ่งเป็นทางลาดชันลงสู่ถนนมหาวงค์ที่จำเลยขับขี่รถมา โดยผู้ตายมิได้ค่อย ๆ ชะลอรถแล่นลงไป อีกทั้งผู้ตายได้หันกลับไปทางที่ทำการไปรษณีย์เนื่องจากมีผู้อยู่ในที่ทำการไปรษณีย์ร้องบอกว่าผู้ตายขับขี่รถผิดคันเป็นรถของผู้อื่น และปรากฏด้วยว่าจุดชนอยู่ใกล้ ๆ กับประตูทางออกของที่ทำการไปรษณีย์ในช่องเดินรถของจำเลย สาเหตุที่ชนนั้นตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุของพนักงานสอบสวนระบุว่า รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกขับขี่ลงมาจากที่สูงโดยการออกมาอย่างแรง เป็นเหตุให้ชนกับรถของจำเลยที่ล้อหน้าด้านซ้าย นอกจากนี้มีรอยห้ามล้อรถของจำเลยอันเกิดจากการหักหลบรถของผู้ตาย จากจุดชนไปทางด้านขวามือเป็นระยะทางประมาณ 8 เมตร แสดงว่าผู้ตายน่าจะขับขี่รถจักรยานยนต์ออกมาจากที่ทำการไปรษณีย์ในระยะกระชั้นชิดตัดหน้ารถของจำเลยซึ่งแล่นมาตามถนนมหาวงค์ในช่องเดินรถของจำเลย เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของผู้ตายชนล้อหน้าด้านซ้ายของรถจำเลยทำให้รถจักรยานยนต์และผู้ตายล้มลงจนถูกรถของจำเลยทับถึงแก่ความตาย กรณีที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากผู้ตาย หาใช่เกิดจากความประมาทของจำเลยตามฟ้องโจทก์ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาข้อหลังนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 บัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดช่วยเหลือตามสมควรและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ตามมาตรา 78 ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 160 โดยมาตรา 160 วรรคแรกบัญญัติไว้ความว่า “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ส่วนวรรคสองบัญญัติไว้ความว่า “ถ้าการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ขับขี่ที่จะได้รับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 160 วรรคสองนั้น หมายถึงกรณีที่ขับขี่รถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วผู้ขับขี่ได้หลบหนีไปจากที่เกิดเหตุโดยไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 และการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 เช่นว่านี้เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย หาใช่หมายถึงการขับขี่รถในทางก่อให้เกิดความเสียหายเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายแล้วผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 ดังเช่นกรณีของจำเลยนี้ไม่ การกระทำของจำเลยดังกล่าวคงเป็นความผิดตามมาตรา 160 วรรคแรกเท่านั้น หาใช่เป็นความผิดตามมาตรา 160 วรรคสองไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้มาชอบแล้วฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน