แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยกับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหายแล้ว ได้คุมตัวผู้เสียหายไปเพื่อเรียกเงินค่าไถ่ ต่อมาอีกประมาณ 3 ชั่วโมงจำเลยกับพวกได้ปล่อยตัวผู้เสียหาย เพราะทราบว่าตำรวจกำลังออกติดตาม แม้จำเลยกับพวกจะยังไม่ทันได้มาซึ่งเงินค่าไถ่ ก็เป็นความผิดฐานเอาตัวผู้เสียหายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่อันเป็นความผิดสำเร็จแล้วและเป็นความผิดคนละกระทงกันกับความผิดฐานปล้นทรัพย์แต่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ถือได้ว่าจำเลยกับพวกได้จัดให้ผู้เสียหายได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ซึ่งกฎหมายให้ลงโทษน้อยกว่าที่กำหนดไว้แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งตามมาตรา 316 และการลดโทษตามมาตรานี้เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 และที่ 5 ที่มิได้ฎีกาด้วย
มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการปล้นทรัพย์รายเดียวกัน จะต้องระวางโทษหนักขึ้นทุกคน จำเลยทั้งห้าไม่ได้ใช้อาวุธปืนในขณะกระทำการปล้นทรัพย์ กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 340 ตรี จำเลยทั้งห้าคงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงตาม มาตรา 340 วรรคสี่เท่านั้น และศาลฎีกาพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ 5 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย เพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213ประกอบด้วย มาตรา225
ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืน จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนจำคุก 1 ปีศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิด เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกับพวกร่วมกันกระทำผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ ร่วมกันมีอาวุธปืนลูกซอง ๒ กระบอก พร้อมกระสุนไว้ในครอบครองและร่วมกันพาไปในเมือง หมู่บ้านฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต และมีอาวุธปืนดังกล่าวกับมีดปลายแหลม ๒ เล่ม ติดตัวไปปล้นทรัพย์นายวิชัย ผู้เสียหาย ได้ทรัพย์ไปรวมราคา ๘๒,๓๕๐ บาท และจำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายวิฑูรย์โดยเจตนาฆ่าแต่กระสุนปืนถูกที่แขนได้รับบาดเจ็บ แล้วจำเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันนำตัวผู้เสียหายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๘๓, ๙๑,๒๘๘, ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, ๓๑๓, ๓๗๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๑ มาตรา ๗, ๘ ทวิ,๗๒, ๗๒ ทวิ ฯลฯ ริบของกลาง คืนของกลางบางส่วนและใช้เงินสด ๕๐,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๙๑, ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, ๓๑๓, ๓๗๑ ฯลฯ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ ฐานปล้นทรัพย์จำคุกคนละ ๓๐ ปี ฐานเอาตัวบุคคลไปเพื่อค่าไถ่จำคุกคนละ ๑๕ ปี ฐานมีอาวุธปืนจำคุกคนละ ๒ ปี ฐานพาอาวุธปืนจำคุกคนละ๑ ปี รวมจำคุกคนละ ๔๘ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกคนละ ๓๒ ปี ริบของกลางคืนของกลางบางส่วน และร่วมกันคืนหรือใช้เงิน ๕๐,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าอีกกระทงหนึ่ง จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว เชื่อว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ เป็นคนร้ายที่ร่วมกันกับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า หลังการปล้นทรัพย์จำเลยกับพวกได้คุมตัวผู้เสียหาย นางอุไรภริยาผู้เสียหายและนายวิฑูรย์ไปด้วยเมื่อไปห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ ๑ กิโลเมตร จำเลยกับพวกจึงปล่อยตัวภริยาผู้เสียหายกับนายวิฑูรย์ โดยสั่งให้นำเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ไปไถ่ตัวผู้เสียหายภายใน ๒ ชั่วโมงและพูดขู่ว่าหากไม่ได้เงินค่าไถ่ ก็จะฆ่าผู้เสียหายให้ตาย ต่อมาอีกประมาณ๓ ชั่วโมง จำเลยกับพวกจึงได้ปล่อยตัวผู้เสียหาย เพราะทราบว่าตำรวจกำลังติดตาม ศาลฎีกาเห็นว่าแม้จำเลยกับพวกจะไม่ทันได้มาซึ่งเงินค่าไถ่ ก็เป็นความผิดฐานเอาตัวผู้เสียหายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่อันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ซึ่งเป็นความผิดคนละกระทงกันกับความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงในคดีไม่ปรากฏว่า ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยกับพวกได้จัดให้ผู้เสียหายได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ในกรณีนี้กฎหมายให้ลงโทษน้อยกว่าที่กำหนดไว้แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งตามนัย มาตรา ๓๑๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษมา โดยมิได้พิเคราะห์ประกอบกับมาตรา ๓๑๖ นี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ และการลดโทษตามมาตรานี้เป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ ๓ ที่ ๕มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็พิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ ๓ ที่ ๕ ด้วย
เกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นั้น ปรากฏว่าความผิดดังกล่าวนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนจำคุกคนละ ๒ ปีฐานพาอาวุธปืนจำคุกคนละ ๑ ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๓๔๐ ตรีบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดตาม ฯลฯ มาตรา ๓๔๐ ฯลฯ โดยมีหรือใช้อาวุธปืน ฯลฯ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง”แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการปล้นทรัพย์รายเดียวกัน จะต้องระวางโทษหนักขึ้นเช่นนี้ทุกคน คดีนี้ไม่มีพยานโจทก์คนใดเบิกความว่า จำเลยทั้งห้านี้เป็นผู้ถืออาวุธปืนในขณะทำการปล้นทรัพย์ การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่ต้องด้วย มาตรา ๓๔๐ ตรีแห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้าตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงคลาดเคลื่อน แม้จำเลยที่ ๓ ที่ ๕ จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ ๓ ที่ ๕ ได้ เพราะเป็นเหตุในลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ ประกอบ มาตรา ๒๒๕จำเลยทั้งห้าคงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงตาม มาตรา ๓๔๐ วรรคสี่เท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ วรรคสี่ จำคุกคนละ ๒๐ ปี กระทงหนึ่ง ผิดตามมาตรา ๓๑๓ ประกอบด้วยมาตรา ๓๑๖ จำคุกคนละ ๑๐ ปี อีกกระทงหนึ่ง และผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนัก ซึ่งศาลล่างทั้งสองลงโทษฐานมีอาวุธปืนจำคุกคนละ ๒ ปี ฐานพาอาวุธปืนจำคุกคนละ ๑ ปี รวมเป็นโทษจำคุกคนละ ๓๓ ปีลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ ๒๒ ปี