คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6461/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่าจำเลยเคยจ่ายค่าเชื่อมมิกซ์ในอัตราวันละ 30 บาท โจทก์แต่ละคนได้รับเฉลี่ยเดือนละ 780 บาท ต่อมาจำเลยไม่จ่ายค่าเชื่อมมิกซ์ซึ่งคำนวณแล้วโจทก์แต่ละคนได้รับเป็นเงินเดือนละไม่ต่ำกว่า 500 บาท ตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 อันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับการทำงานและมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจ่ายเงิน ดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย แม้คำขอท้ายฟ้องจะขอให้จำเลยจ่ายค่าเชื่อมมิกซ์เพียงอัตราเดือนละ 500 บาท ทั้งที่ในคำฟ้องว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับเดือนละ 780 บาท ก็ตาม ก็ถือได้แน่นอนว่าโจทก์เรียกร้องเงินจำนวนนี้ตามคำขอท้ายฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ไม่เคลือบคลุม
แม้ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 จะใช้คำว่า “ให้ศาลแรงงาน จดประเด็นข้อพิพาท” ก็มิใช่บทบังคับศาลเด็ดขาดให้ต้องจดประเด็นข้อพิพาททุกคดี คงให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะจดประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ก็ได้ เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานต้องเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรมดังที่บทบัญญัติไว้ในมาตรา 29 หากศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามข้อต่อสู้ของคู่ความครบถ้วนแล้วก็ถือว่าศาลแรงงานได้ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งที่คู่ความทำได้ เมื่อจำเลยตั้ง ภ. เป็นทนายความ ภ. จึงมีฐานะเป็นคู่ความมีสิทธิกระทำการแทนจำเลยเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณา อันรวมถึงการแถลงรับข้อเท็จจริงด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 คำแถลงรับของ ภ. ทนายจำเลยจึงต้องผูกพันจำเลยด้วย
โจทก์ทั้งสี่เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางและชักชวนให้ลูกจ้างอื่นร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานตรวจแรงงานและฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเนื่องจากจำเลยปรับลดค่าจ้างโดยไม่มีอำนาจ การกระทำของโจทก์ทั้งสี่เป็นการใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าจ้าง ส่วนที่จำเลยปรับลดอันเป็นค่าจ้างค้างจ่ายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และ 54 และใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 123 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้สิทธิที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ทั้งการชักชวนให้ลูกจ้างอื่นของจำเลยกระทำตามก็เป็นการชักชวนให้ลูกจ้างอื่นใช้สิทธิตามกฎหมายเช่นกัน การกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
อุทธรณ์ของจำเลยซึ่งบิดเบือนข้อเท็จจริงถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาล แรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามที่โจทก์ฟ้องเรียกมา ศาลแรงงานกลางได้พิพากษากำหนดเป็นจำนวนเงินไว้แล้ว หนี้ดังกล่าวต้องชำระเป็นเงินจึงเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ซึ่งจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายนับแต่วัน ผิดนัดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ใช่หนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะตกเป็น ผู้ผิดนัดและรับผิดชำระดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสี่ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใด จึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีสิทธิได้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในเงินค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แม้ในคำฟ้องของโจทก์จะขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาพิพากษา โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ ๑ ถึงโจทก์ที่ ๔ และเรียกจำเลยทั้งสี่สำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๐,๒๐๐ บาท ๘,๕๐๐ บาท ๑๐,๒๐๐ บาท และ ๘,๕๐๐ บาท ค่าชดเชย ๘๑,๖๐๐ บาท ๒๕,๔๙๙ บาท ๘๑,๖๐๐ บาท และ ๒๕,๔๙๙ บาท ค่าเสียหายจากการ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๗๑,๔๐๐ บาท ๑๗,๐๐๐ บาท ๗๑,๔๐๐ บาท และ ๑๗,๐๐๐ บาท และค่าจ้างค้างจ่าย ๓,๖๙๐ บาท ๖,๐๖๐ บาท ๓,๖๙๐ บาท และ ๑๐,๘๙๐ บาท แก่โจทก์ทั้งสี่ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้กระทำผิดและไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนประเด็นข้อพิพาทอื่นโจทก์ที่ ๒ และที่ ๔ สละไม่ติดใจเรียกร้องจึงไม่ต้องวินิจฉัย พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๐,๒๐๐ บาท ๘,๕๐๐ บาท ๑๐,๒๐๐ บาทและ ๘,๕๐๐ บาท ค่าชดเชย ๘๑,๖๐๐ บาท ๒๕,๔๙๙ บาท ๘๑,๖๐๐ บาท และ ๒๕,๔๙๙ บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๖๑,๒๐๐ บาท ๑๒,๐๐๐ บาท ๖๑,๒๐๐ บาท และ ๑๗,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ทั้งสี่ตามลำดับ และจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ทั้งสี่คนละ ๓,๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้อง (โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ ฟ้องวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๓ โจทก์ที่ ๔ ฟ้องวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๓) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่าจำเลยเคยจ่ายค่าเชื่อมมิกซ์ในอัตราวันละ ๓๐ บาท โจทก์แต่ละคนได้รับเฉลี่ยเดือนละ ๗๘๐ บาท ต่อมาจำเลยไม่จ่ายค่าเชื่อมมิกซ์ซึ่งคำนวณแล้วโจทก์แต่ละคนได้รับเป็นเงินเดือนละไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ บาท ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๔๓ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับการทำงาน และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย แม้ คำขอท้ายฟ้องจะขอให้จำเลยจ่ายค่าเชื่อมมิกซ์เพียงอัตราเดือนละ ๕๐๐ บาท ทั้งที่กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าโจทก์แต่ละคน มีสิทธิได้รับเดือนละ ๗๘๐ บาท ดังจำเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่ต้องถือได้แน่นอนว่าโจทก์เรียกร้องเงินจำนวนนี้ตามคำขอท้ายฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสี่และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่ง ข้อหาเช่นว่านั้น ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ไม่เคลือบคลุม
จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดประเด็นข้อพิพาทเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณา ที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๙ จะใช้คำว่า “ให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาท” ก็ไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดให้ต้องจดประเด็นข้อพิพาททุกคดี คงให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะจดประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ก็ได้ เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานต้องเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรมดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙ หากศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตาม ข้อต่อสู้ของคู่ความครบถ้วนแล้วก็ถือว่าศาลแรงงานกลางได้ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
จำเลยอุทธรณ์ประการที่สี่ว่า ทนายจำเลยเป็นเพียงทนายความมีหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลย ไม่มีหน้าที่แถลงรับข้อเท็จจริงแทนจำเลย ข้อเท็จจริงที่ทนายจำเลยแถลงรับจึงไม่ผูกพันจำเลยนั้น เห็นว่า การแถลง รับข้อเท็จจริงต่อศาลเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งที่คู่ความทำได้ เมื่อจำเลยตั้งนายภาสกร เทวา เป็นทนายความของจำเลยนายภาสกรจึงมีฐานะเป็นคู่ความมีสิทธิกระทำการแทนจำเลยเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาอันรวมถึงการแถลงรับข้อเท็จจริงด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑(๑๑) ประกอบพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ คำแถลงรับของนายภาสกรทนายจำเลยจึงต้อง ผูกพันจำเลยด้วย อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ประการที่ห้าว่า ก่อนโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสี่ได้ร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน หลายครั้งแต่พนักงานตรวจแรงงานยกคำร้องทุกครั้ง ต่อมาโจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางถึง ๒ ครั้ง ซึ่งศาลแรงงานกลางยกฟ้อง โจทก์ทั้งสี่กลั่นแกล้งฟ้องจำเลยตลอดมา ทั้งพยายามยุยงให้ลูกจ้างอื่นไปร้องเรียนต่อสำนักงานแรงงานจังหวัดและฟ้องต่อศาลแรงงานกลางอันเป็นการก่อให้เกิดความแตกแยกภายในบริษัทจำเลย กรณีจึงเป็นการใช้สิทธิโดย ไม่สุจริต จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสี่เคยฟ้องจำเลย ต่อศาลแรงงานกลางและชักชวนให้ลูกจ้างอื่นร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานและฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง เนื่องจากจำเลยปรับลดค่าจ้างโดยไม่มีอำนาจ การกระทำของโจทก์ทั้งสี่เป็นการใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างส่วนที่จำเลยปรับลดอันเป็นค่าจ้างค้างจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๕๔ และใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา ๑๒๓ วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้สิทธิที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ทั้งการชักชวนให้ลูกจ้างอื่นของจำเลยกระทำตามก็เป็นการชักชวนให้ลูกจ้างอื่นใช้สิทธิตามกฎหมายเช่นกัน การกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอ้างว่าศาลแรงงานกลางยกฟ้องโจทก์นั้นก็ไม่เป็นความจริง ข้อเท็จจริงปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาคดีหมายเลขแดงที่ ธบ.๑๕๒-๑๕๕/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ของศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ระบุว่าโจทก์ทั้งสี่ขอถอนฟ้องเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง (ฟ้องใหม่) โดยจำเลยไม่ค้าน ศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) อนุญาตและสั่งจำหน่ายคดี มิได้พิพากษายกฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ถือว่าเป็นอุทธรณ์ใน ข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า จำนวนเงินตามคำพิพากษาเป็นสิทธิที่ศาลกำหนดให้และสิทธิดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด อีกทั้งมิใช่หนี้เงิน โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยนั้น เห็นว่า สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามที่โจทก์ฟ้องเรียกมา ศาลแรงงานกลางได้พิพากษากำหนดเป็นจำนวนเงินไว้แล้ว ทั้งหนี้ดังกล่าวล้วนต้องชำระเป็นเงินทั้งสิ้น จึงเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ซึ่งจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายนับแต่วันผิดนัดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ใช่หนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดและรับผิดชำระดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสี่ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใดจำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสี่จึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในเงินค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แม้ในคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่จะขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี แต่เพื่อความเป็นธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในส่วนของค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยร้อยละ ๑๕ ต่อปี แก่โจทก์ทั้งสี่ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share