คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6450/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันนั้นยังอยู่ในระยะเวลาการห้ามโอนตามกฎหมาย นิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และในกำหนดเวลาห้ามโอนนี้ย่อมไม่อาจส่งมอบการครอบครองแก่กันได้การส่งมอบการครอบครองในระยะเวลาการห้ามโอนตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ก็ถือเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเช่นกัน ดังนี้แม้จะฟังว่าจำเลยส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ก็ไม่ได้ครอบครองในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 จะโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองในวันที่ 27 เมษายน 2532 ต่อมาโจทก์ให้ตัวแทนไปติดต่อให้จำเลยที่ 1โอนที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 1 แจ้งว่า จำเลยที่ 1 ขอมอบสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์จึงเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่27 เมษายน 2532 เป็นต้นมา แต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีเจตนาซื้อขายและไม่มีการชำระราคา ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2533 จำเลยที่ 2จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันไปดำเนินการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กิ่งอำเภอเขาค้อจังหวัดเพชรบูรณ์ จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม และให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 เคยลงชื่อในสัญญาซื้อขายโดยมิได้กรอกข้อความมอบให้แก่นายศิริ เทียนป้อม เพื่อให้นายศิริเป็นนายหน้าขายที่ดินพิพาท แต่นายศิริหาคนซื้อไม่ได้ ต่อมาวันที่24 พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ขณะจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องทำขึ้นระหว่างห้ามโอนจึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายเป็นโมฆะ และการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรกโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตมีค่าตอบแทน และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนเช่นกันการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยมีค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิกับพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริต โจทก์มิได้เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ทางราชการออกให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2522 โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ นับแต่วันที่ 26 เมษายน 2522เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2531 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสอง โดยยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนับแต่วันทำสัญญา ต่อมาเมื่อวันที่24 พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2533 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่เห็นว่าขณะที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันนั้น ยังอยู่ในระยะเวลาการห้ามโอนตามกฎหมาย นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และในกำหนดเวลาห้ามโอนนี้ย่อมไม่อาจส่งมอบการครอบครองแก่กันได้ การส่งมอบการครอบครองในระยะเวลาการห้ามโอนตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ก็ถือเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเช่นกัน ดังนี้ แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share