คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4784/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทระบุว่า ผู้ซื้อจะชำระเงินค่ามัดจำห้องชุดโดยวิธีผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ส่วนที่เหลือผู้ซื้อจะชำระให้แก่ผู้ขายในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ และผู้ขายจะทำการก่อสร้างให้เสร็จภายในเวลาประมาณ 18 เดือน นับตั้งแต่ได้รับอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างอาคารจากทางราชการ… แสดงว่าสัญญาจะซื้อจะขาย ดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ได้ชำระมัดจำให้แก่จำเลยที่ 1 ครบตามที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ก่อสร้างห้องชุดพิพาทให้เสร็จเรียบร้อยตามสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ก่อสร้างไม่เสร็จตามรายการที่ระบุในสัญญาดังกล่าว ซึ่งนับตั้งแต่เวลาที่จำเลยที่ 1 ระบุไว้ในสัญญาว่าจะก่อสร้างเสร็จ จนถึงวันที่โจทก์มีหนังสือแจ้ง บอกเลิกสัญญาเป็นรายเวลานานถึง 3 ปี จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาได้
ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดดังกล่าว ระบุว่า “หากบริษัทฯ ไม่สามารถทำการก่อสร้างหรือไม่ได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดอันเนื่องจากขัดต่อข้อบัญญัติแห่งกฎหมายใด ๆ หรือขัดข้องด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม หรือบริษัทฯ เลิกทำการก่อสร้างอาคารชุด บริษัทฯ มีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้และคืนเงินทั้งหมดที่ได้รับชำระจาก “ผู้จะซื้อ” ให้แก่ “ผู้จะซื้อ” พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตรา 14% ต่อปี…” ย่อมหมายถึง สัญญาเลิกกันโดยมิใช่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินที่รับชำระไว้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี มิใช่หมายถึงเฉพาะกรณีที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายบอกเลิกด้วยเหตุที่ระบุดังกล่าวเท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้ตั้งแต่จำเลยที่ 1 รับชำระแต่ละงวดไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรค 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน ๗๒๐,๒๓๔.๙๘ บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปีจากต้นเงิน ๔๙๔,๒๓๒.๖๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๓๓๐,๖๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ รับไปในแต่ละงวดจนกว่าจะชำระเสร็จดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๐) เป็นเงินจำนวน ๒๒๖,๐๐๒.๒๘ บาท คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๐,๐๐๐ บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทระบุว่าผู้จะซื้อจะชำระเงินค่ามัดจำห้องชุดโดยวิธีการผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ส่วนที่เหลือผู้จะซื้อจะชำระให้แก่ผู้จะขายในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ และผู้จะขายจะทำการก่อสร้างให้แล้ว เสร็จภายในเวลาประมาณ ๑๘ เดือนนับตั้งแต่ได้รับอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างอาคารจากทางราชการ…ซึ่งแสดงว่าสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระมัดจำให้แก่จำเลยที่ ๑ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยที่ ๑ จึงมีหน้าที่ก่อสร้างห้องชุดพิพาทให้เสร็จเรียบร้อยตามสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยที่ ๑ ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามรายการที่ระบุในสัญญาดังกล่าว ซึ่งนับตั้งแต่เวลาที่จำเลยที่ ๑ ระบุไว้ในสัญญาว่า จะก่อสร้างเสร็จ จนถึงวันที่โจทก์มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา เป็นระยะเวลาเนิ่นนานถึงประมาณ ๓ ปี จำเลยที่ ๑ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเสียได้ ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปี ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ดังกล่าว ระบุว่า “หากบริษัทฯไม่สามารถทำการก่อสร้างหรือไม่ได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดอันเนื่องจากขัดต่อข้อบัญญัติแห่งกฎหมายใด ๆ หรือขัดข้องด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม หรือบริษัทฯ เลิกทำการก่อสร้างอาคารชุด บริษัทฯมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ และคืนเงินทั้งหมดที่ได้รับชำระจาก “ผู้จะซื้อ” ให้แก่ “ผู้จะซื้อ” พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตรา ๑๔% ต่อปี…” ย่อมหมายถึงสัญญาเลิกกันโดยมิใช่โจทก์เป็น ฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ ๑ ต้องคืนเงินที่รับชำระไว้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปี มิใช่หมายถึงเฉพาะกรณีที่ จำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาด้วยเหตุที่ระบุไว้ดังกล่าว เท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้ ตั้งแต่จำเลยที่ ๑ รับชำระแต่ละงวดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๙๑ วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ ๑ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒.

Share