คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของ ด. แบ่งปันกันเอง โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันอ้างว่า ด. มีบุตร 3 คน ซึ่งเป็นความเท็จ และร่วมกันแบ่งทรัพย์มรดกของ ด. โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของ ด. แบ่งปันกันเอง โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ให้แก่โจทก์และบุตร ย่อมมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 และไม่อาจถือว่าโจทก์ฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ประกอบกับเหตุแห่งการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตามฟ้องเกิดขึ้นหลัง ด. ตายเกินกว่าระยะเวลา 1 ปีแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้เกินระยะเวลา 1 ปี นับแต่ ด. ถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนขอให้จำเลยทั้งสามโอนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27141, 52622 และ 48771 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์เลขที่ 2133 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แก่โจทก์และบุตรภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 479,949.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ทำได้ ให้แบ่งทรัพย์มรดกตามส่วนให้แก่โจทก์ในส่วนของที่ดิน หากแบ่งไม่ได้ให้นำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 25,787.50 บาท แก่โจทก์และบุตร พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์และบุตร และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27141 และ 48771 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำเลยที่ 3 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 52622 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ให้แก่โจทก์และบุตรรวมกันแปลงละ 1 ใน 4 ส่วน หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 โดยโจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า จำเลยทั้งสามและนายผจญ สามีของโจทก์เป็นบุตรของนางดวง เจ้ามรดก นายผจญกับโจทก์สมรสกัน เด็กชายปนิธิหรือปัจจุบัน เป็นบุตรของนายผจญกับโจทก์ นางดวงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 นายผจญถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2547 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2548 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางดวงตามสำเนาคำร้องคดีหมายเลขดำที่ 151/2548 ของศาลชั้นต้น โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ความยินยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ครั้นวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางดวง ซึ่งนางดวงมีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27141, 48771, 52622 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และบ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 16 ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งปัจจุบันบ้านเลขที่ 8 ถูกรื้อถอนแล้ว เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2548 จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27141 เป็นของจำเลยที่ 1 และวันที่ 19 ธันวาคม 2554 จำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27141 ออกเป็นที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 52622 จากนั้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 52622 ให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินค่าทดแทนที่ดินและค่ารื้อย้ายจากกรมชลประทาน กรณีทางราชการเวนคืนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 48771 บางส่วนเป็นเงินจำนวน 3,150 บาท ส่วนที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์เลขที่ 2133 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีการออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 48772 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 มิใช่ทรัพย์มรดกของนางดวง ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินกรณีทางราชการเวนคืนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 48772 บางส่วนเป็นเงินจำนวน 236,013.75 บาท และค่ารื้อย้ายต้นไม้ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 48772 เป็นเงินจำนวน 40,786 บาท
ประเด็นที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า นางดวงเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอแบ่งปันทรัพย์มรดกเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมสมคบกันยักย้ายและปิดบังทรัพย์มรดกของนางดวง โดยฉ้อฉลและรู้อยู่ว่าทำให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนางดวง ไม่อาจถือว่าโจทก์ฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางดวง ประกอบกับเหตุแห่งการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตามฟ้องเกิดขึ้นหลังนางดวงตายเกินกว่าระยะเวลา 1 ปีแล้ว เช่นนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้เกินระยะเวลา 1 ปี นับแต่นางดวงถึงแก่ความตาย เช่นนี้ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ เมื่อคู่ความมิได้อุทธรณ์ ประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ย่อมเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และถือไม่ได้ว่าฎีกาในประเด็นนี้ของจำเลยทั้งสามเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 เป็นข้อฎีกาที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยทั้งสามฎีกาในประเด็นที่ว่า โจทก์ฟ้องและอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันสมคบยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของนางดวง โดยฉ้อฉลและรู้อยู่แล้วว่าทำให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนางดวง ไม่อาจถือว่าโจทก์ฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางดวง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางดวงให้แก่โจทก์และบุตร ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง และเป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของนางดวงแบ่งปันกันเอง โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันอ้างว่านางดวงมีบุตร 3 คน ซึ่งเป็นความเท็จ และร่วมกันแบ่งทรัพย์มรดกของนางดวงโดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางดวงตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของนางดวงแบ่งปันกันเอง โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางดวงตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางดวงให้แก่โจทก์และบุตร ย่อมมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 อันเป็นการมิชอบดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างในฎีกาแต่ประการใด ฎีกาในประเด็นนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประเด็นต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสามต้องแบ่งทรัพย์มรดกของนางดวงให้แก่โจทก์และบุตรของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ ประเด็นนี้เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า นางดวงผู้เป็นเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27141, 52622 และ 48771 เงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 48771 จำนวน 3,150 บาท และบ้านที่รื้อถอนไปแล้วซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตีราคาทรัพย์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท โดยจำเลยทั้งสามมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้าน ซึ่งนางดวงมีทายาท 4 คน คือจำเลยทั้งสามกับนายผจญสามีของโจทก์ โจทก์กับบุตรเป็นผู้รับมรดกแทนที่นายผจญสามีของโจทก์ ย่อมมีสิทธิรับมรดกของนางดวง 1 ใน 4 ส่วน แม้จำเลยทั้งสามจะฎีกาว่า จำเลยทั้งสามได้ชำระเงินในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนางดวงที่ตกทอดแก่โจทก์และบุตรของโจทก์แล้วจำนวน 62,500 บาท โดยแยกเป็นค่าที่ดิน 50,000 บาท และค่าบ้าน 12,500 บาท ตามที่ปรากฏในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1402/2557 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก จำเลยทั้งสามหาจำต้องแบ่งทรัพย์มรดกของนางดวงให้แก่โจทก์และบุตรของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 อีกแต่ประการใด แต่เมื่อตรวจพิเคราะห์สำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1402/2557 ของศาลชั้นต้น แล้วปรากฏข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 สำนึกผิดในการกระทำความผิดและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 62,500 บาท และตามคำร้องของโจทก์ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1402/2557 ของศาลชั้นต้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ขอรับเงินจำนวน 62,500 บาท ที่จำเลยที่ 1 นำไปวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อเป็นการชดใช้ค่าเสียหายในคดีอาญา อันเป็นมูลเรื่องละเมิด โดยโจทก์ยังคงสงวนสิทธิในการฟ้องคดีแพ่งในเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งปันทรัพย์มรดก ด้วยเหตุนี้เองย่อมไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติได้แน่นอนว่า จำเลยทั้งสามได้ชำระเงินในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนางดวงที่ตกทอดแก่โจทก์และบุตรของโจทก์แล้วจำนวน 62,500 บาท ดังที่กล่าวอ้างในฎีกา นอกจากนี้ ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27141 มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 52622 มีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกสร้างบ้านของแต่ละคนลงในที่ดินเต็มพื้นที่แล้ว เป็นการยากที่จะแบ่งหรือให้โจทก์และบุตรมีชื่อในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง และในอนาคตจะต้องมีการฟ้องร้องเป็นคดีเกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลงอีกอย่างแน่แท้ แต่ข้อขัดข้องในเรื่องการแบ่งทรัพย์มรดกดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างในฎีกาเป็นเรื่องเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินซึ่งสามารถดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ทรัพย์สิน ลักษณะ 2 กรรมสิทธิ์ และหมวด 3 กรรมสิทธิ์รวม หาเป็นข้อขัดข้องตามฎีกาของจำเลยทั้งสามแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 25,787.50 บาท แก่โจทก์และบุตร พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์และบุตร และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 27141 และ 48771 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำเลยที่ 3 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 52622 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ให้แก่โจทก์และบุตรรวมกันแปลงละ 1 ใน 4 ส่วน มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาในประเด็นนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share