คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6442/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คก่อนที่มีการนำไปขายให้โจทก์ ไม่ใช่สลักหลังภายหลังที่มีการแก้ไขวันที่ลงในเช็คและจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยินยอมให้แก้ไข การแก้ไขดังกล่าวเป็นข้อสำคัญและเห็นประจักษ์เช็คเป็นอันเสียเฉพาะจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเช็คมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุไหงโก-ลก ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 จำนวนเงิน 155,000 บาท และเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสุไหงโก-ลก ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2538 จำนวนเงิน 180,000 บาท เช็คทั้งสองฉบับมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย ต่อมาจำเลยที่ 2 นำเช็คทั้งสองฉบับแลกเงินสดไปจากโจทก์ เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามเช็ค จำเลยทั้งสองขอเลื่อนการชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ได้แก้ไขวันที่ลงในเช็คทั้งสองฉบับ ฉบับแรกแก้ไขเป็นลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 ฉบับที่ 2 แก้ไขเป็นลงวันที่ 9 ธันวาคม 2541 โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คทั้งสองฉบับไว้ เมื่อถึงกำหนดชำระเงินที่แก้ไขในเช็คทั้งสองฉบับ โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คทั้งสองฉบับปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 352,345 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 335,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายแล้วจำเลยที่ 1 นำไปแลกเงินสดจากโจทก์ ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ โจทก์ได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 แก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่ที่ลงในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อสำคัญ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นให้ความยินยอมด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 352,345 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 335,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 352,345 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 335,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ฉบับแรกลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 ฉบับที่สองลงวันที่ 9 ธันวาคม 2538 ได้มีการนำเช็คทั้งสองฉบับไปแลกเงินสดจากโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขีดฆ่าเปลี่ยนแปลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คทั้งสองฉบับ ฉบับแรกแก้เป็นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 ฉบับที่สองแก้เป็นวันที่ 9 ธันวาคม 2541 โดยการแก้ไขเห็นประจักษ์เช็คพิพาททั้งสองฉบับมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลัง ต่อมาเมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้โจทก์หรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 แก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่ที่ลงในเช็คพิพาทโดยจำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขวันที่ที่ลงเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2538 จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ ซึ่งเช็คดังกล่าวเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนเช็คพิพาทถึงกำหนดจำเลยทั้งสองได้มาติดต่อโจทก์ขอเลื่อนการเรียกเก็บเงิน โจทก์ก็ให้เลื่อนเรื่อยมา จนในที่สุดปี 2539 จำเลยที่ 1 ได้ขีดฆ่าวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับและลงวันที่ใหม่พร้อมเซ็นชื่อกำกับไว้ โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังไว้ ฝ่ายจำเลยที่ 2 มีตัวจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 2 เคยนำเช็คไปขายให้โจทก์ประมาณ 5 ถึง 6 ครั้ง ส่วนมากเป็นเช็คของลูกค้าของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 นำไปขาย โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อสลักหลังทุกครั้ง จำเลยที่ 2 ไม่เคยนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปขายให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อสลักหลัง จำเลยที่ 2 สลักหลังให้แล้วจำเลยที่ 1 นำไปขายให้โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่สลักหลังโจทก์ก็ไม่รับซื้อเช็ค ต่อมาประมาณ 1 ปี โจทก์มาติดต่อจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับเช็คพิพาทว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยและโจทก์ได้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามเช็คออกไป ต่อมาปี 2541 โจทก์มาขอให้จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาทใหม่ จำเลยที่ 2 ไม่ยินยอม เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2 จึงทราบว่าเช็คพิพาทมีการแก้ไขวันสั่งจ่ายเงิน นอกจากคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีเช็คคดีหมายเลขดำที่ 307/2541 ของศาลชั้นต้น โดยจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังเช็ค โดยโจทก์เบิกความในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 เคยนำเช็คไปขายให้โจทก์ มีจำเลยที่ 2 สลักหลัง หากจำเลยที่ 2 ไม่ลงชื่อสลักหลัง โจทก์จะไม่รับซื้อเช็ค ปรากฏตามคำให้การเอกสารหมาย ล.3 เห็นว่า โจทก์มีอาชีพรับซื้อเช็ค หากเป็นดังคำเบิกความของโจทก์แล้ว การที่จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทมาขายให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ย่อมต้องให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อสลักหลังเพื่อให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อันเป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 307/2541 เอกสารหมาย ล.3 ว่า ทางปฏิบัติ หากจำเลยที่ 3 นำเช็คมาขายให้โจทก์ โจทก์จะให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสลักหลังด้วยทุกครั้ง และที่โจทก์เบิกความในคดีนี้ว่า มีการแก้ไขวันที่ในเช็คพิพาท แล้วให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังนั้น ก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยที่ 2 จะต้องสลักหลังเช็คพิพาทเนื่องด้วยจำเลยที่ 2 ได้เงินจากการขายเช็คพิพาทให้โจทก์มาแล้วและไม่มีความผูกพันในเช็คพิพาท จากคำเบิกความของโจทก์เองได้ความว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ยิ่งทำให้ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 2 จะต้องสลักหลังเช็คพิพาทเพื่อร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 มีน้ำหนักมากกว่าพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้สลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับก่อนที่มีการนำไปขายให้โจทก์ ไม่ใช่สลักหลังภายหลังที่มีการแก้ไขวันที่ลงในเช็คพิพาททั้งสองฉบับและฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้แก้ไขวันที่ลงในเช็คพิพาททั้งสองฉบับการแก้ไขดังกล่าวเป็นข้อสำคัญ เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นอันเสียเฉพาะจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้ ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความรวมสองศาล 10,000 บาท.

Share