คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 347/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจโท อ. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรและเวรสอบสวนว่าสุนัขของ ม. กัดหลานของจำเลย อ. มิได้สั่งให้ตำรวจลงบันทึกแจ้งความตามที่จำเลยมาแจ้ง โดยอ้างว่าอาจเป็นสุนัขกลางตลาดก็ได้ จะไปสืบหาเจ้าของสุนัขเสียก่อน จำเลยยืนยันว่าเป็นสุนัขของ ม. แต่ อ. ไม่ยอมรับแจ้งความในทันที อ. และจำเลยจึงโต้เถียงกันในเรื่องไม่ลงบันทึกประจำวัน จำเลยได้กล่าวต่อ อ. ว่า ทำอย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรม ดังนี้ มีความหมายว่า อ. ปฏิบัติหน้าที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งเป็นการดูถูกเหยียดหยามต่อ อ. เป็นถ้อยคำดูหมิ่น อ. จำเลยมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ไม่ใช่ว่าเป็นการต่อว่าที่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียของจำเลยตามคลองธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นร้อยตำรวจโทอุดม แก่นทรัพย์ เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งได้รับแจ้งความจากจำเลยว่าสุนัขของนางม่วย ชูปัญญา กัดหลานของจำเลย ร้อยตำรวจโทอุดม แก่นทรัพย์ จึงสั่งให้จ่าสิบตำรวจนิพนธ์ โปร่งจิตต์ ลงบันทึกข้อความประจำวันและให้ไปสืบสวนว่าเป็นสุนัขของผู้ใดแน่ อันเป็นการกระทำตามหน้าที่ จำเลยได้กล่าวถ้อยคำดูหมิ่นร้อยตำรวจโทอุดม แก่นทรัพย์ว่า “ผู้หมวดอุดมทำอย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรม ชอบกลั่นแกล้งขัดขวางไม่ให้ความยุติธรรม พยายามกลั่นแกล้งมาหลายครั้งแล้ว อยู่บ้านหมี่มาตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น ไม่เคยเห็นผู้หมวดอย่างนี้มาก่อน ผู้หมวดคนนี้ ผู้กองหรือใคร ๆ ก็รู้ดีว่าชอบกลั่นแกล้งผู้มาแจ้งความ และไม่มีความยุติธรรม เอาละเมื่อไม่ยุติธรรมแบบนี้คงได้เห็นดีกัน” และจำเลยบังอาจส่งเสียงร้อยด่าผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖, ๓๗๐
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖ จำคุก ๑ เดือน ปรับ ๒๐๐ บาท ยกโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๕ ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๗ เวลา ๑๖ นาฬิกาเศษ ร้อยตำรวจโทอุดม แก่นทรัพย์ ปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรและเวรสอบสวน ประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านหมี่ จำเลยไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจโทอุดม แก่นทรัพย์ ว่าสุนัขของนางม่วย ชูปัญญา กัดหลานของจำเลย เมื่อวันที่ ๒๘ และ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๗ ร้อยตำรวจโทอุดม แก่นทรัพย์ มิได้สั่งให้จ่าสิบตำรวจนิพนธ์ โปร่งจิตต์ ลงบันทึกแจ้งความตามที่จำเลยมาแจ้ง โดยอ้างว่าอาจเป็นสุนัขกลางตลาดก็ได้ จะไปสืบหาเจ้าของสุนัขเสียก่อน จำเลยยืนยันว่าเป็นสุนัขของนางม่วย ชูปัญญา แต่ร้อยตำรวจโทอุดม แก่นทรัพย์ ไม่ยอมรับแจ้งความในทันทีว่าสุนัขที่กัดหลานของจำเลยเป็นสุนัขของนางม่วย ชูปัญญา ร้อยตำรวจโทอุดม แก่นทรัพย์ และจำเลยได้โต้เถียงกันในเรื่องไม่ลงบันทึกประจำวันตามที่จำเลยแจ้ง จำเลยกล่าวต่อร้อยตำรวจโทอุดม แก่นทรัพย์ว่า ทำอย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรม
คดีคงมีปัญหาว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อร้อยตำรวจโทอุดม แก่นทรัพย์ ว่าทำอย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรมนั้นมีความหมายว่า ร้อยตำรวจโทอุดม แก่นทรัพย์ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ยุติธรรมซึ่งเป็นการดูถูกเหยียดหยามต่อร้อยตำรวจโทอุดม แก่นทรัพย์ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเช่นนั้นจึงเป็นถ้อยคำดูหมิ่นร้อยตำรวจโทอุดม แก่นทรัพย์ จำเลยกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นในขณะที่ร้อยตำรวจโทอุดม แก่นทรัพย์ ปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรและเวรสอบสวนประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านหมี่ และเป็นผู้รับแจ้งความจากจำเลย อันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ไม่ใช่เป็นการต่อว่าที่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียของจำเลยตามคลองธรรมดังที่จำเลยฎีกา
พิพากษายืน

Share