คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6437/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 124 กำหนดให้พนักงานตรวจแรงงานต้องทำการสอบสวนและมีคำสั่ง ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง หากมีกรณีจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งในกำหนดเวลาได้ก็ให้ขอขยายระยะเวลาต่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องของ ส. กับพวกเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2544 แต่มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2544 ซึ่งเกินกว่า 60 วันโดยไม่ได้ขอขยายระยะเวลาตามกฎหมายคำสั่งของจำเลยจึง ไม่มีผลบังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการที่ ๒๒๐/๒๕๔๔ เสีย
จำเลยให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า คำสั่งของจำเลยที่ ๒๒๐/๒๕๔๔ ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยซึ่งเป็น พนักงานตรวจแรงงานไม่ออกคำสั่งภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันรับคำร้อง จะมีอำนาจในการออกคำสั่งหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องของนายสวัสดิ์ กับพวก เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ แต่จำเลยมีคำสั่งที่ ๒๒๐/๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๔ ซึ่งเกินกว่า ๖๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องโดยจำเลยไม่ได้ขอขยายระยะเวลาในการทำคำสั่งต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตามมาตรา ๑๒๔ แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ เห็นว่า คำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ออกตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา ๑๒๔ มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างจึงบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานผู้มีอำนาจ หน้าที่อยู่ตามมาตรานี้จะต้องกระทำโดยเร็ว บทกฎหมายดังกล่าวจึงกำหนดเวลาอันเป็นเงื่อนไขในการใช้อำนาจโดยให้กระทำในระยะเวลาที่กำหนดคือภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นก็ต้องขอขยายระยะเวลาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย เมื่อจำเลยไม่อาจออกคำสั่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ใช้อำนาจออกคำสั่งไปโดยไม่ได้ขอขยายระยะเวลาต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายย่อมเป็นการขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง คำสั่งของจำเลยจึงไม่มีผลบังคับ ต้องเพิกถอน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒๒๐/๒๕๔๔ เสีย.

Share