แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดฐานละเมิด โดยบรรยายมาในคำฟ้องชัดแจ้งแล้วว่า การร้องเรียนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการจงใจทำละเมิดและกลั่นแกล้งโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายและมีเจตนาไม่ให้โจทก์ทำการก่อสร้างอาคารได้ตามปกติทำให้การก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนด อีกทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และบริวารได้พูดจาข่มขู่บุคคลภายนอกที่มาติดต่อขอรับโอนสิทธิการเช่าจากโจทก์ว่า หากรับโอนสิทธิการเช่าไปก็จะมีความเดือดร้อนเพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังมีข้อพิพาทกับโจทก์อยู่ ทำให้อาคารที่โจทก์สร้างขึ้น 4 หลัง มีผู้รับโอนสิทธิการเช่าเพียงหลังเดียว ส่วนอีก 3 หลัง ไม่มีผู้ใดกล้าเช่าช่วงหรือรับโอนสิทธิการเช่า ดังนี้ การกระทำตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามเป็นผู้เช่าที่ดินและอาคารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินจำนวน 2 แปลง คือแปลงหมายเลขที่ 1 ข. และเลขที่ 12 ตำบลจักรพรรดิพงษ์ใต้ที่ 1 (แขวงคลองมหานาค)เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร โจทก์ได้รับโอนสิทธิการเช่ามาจากผู้เช่าเดิมเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2533 และวันที่ 3 กันยายน 2533 ตามลำดับ ส่วนจำเลยทั้งสามเป็นผู้เช่าอาคารเลขที่ 547 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินที่โจทก์เช่า โจทก์มีสิทธิทำการก่อสร้างอาคารในที่ดินที่เช่าเพื่อให้บุคคลทั่วไปเช่าหรือโอนสิทธิการเช่าให้แก่บุคคลภายนอกโดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เมื่อระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม 2534 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์2536 จำเลยทั้งสามจงใจทำละเมิดและกลั่นแกล้งโจทก์โดยเมื่อโจทก์ดำเนินการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารตึกแถวในที่ดินที่เช่าต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำเลยทั้งสามร่วมกันยื่นหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2534 ต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ขอให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์พิจารณาแก้ไข ปรับและเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างอาคารตึกแถวของโจทก์ที่จะสร้างโดยอ้างว่าจะทำให้จำเลยทั้งสามไม่สามารถนำทรัพย์สินมีค่า เช่น รถยนต์ เข้าไปเก็บในอาคารที่จำเลยทั้งสามเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ ทั้งเป็นอุปสรรคขัดขวางในการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งสาม คือไม่สามารถขนวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรและแท่นพิมพ์เข้าไปในอาคารได้ หรือขอให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดให้มีการเจรจาตกลงระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเพื่อหาข้อยุติกำหนดบริเวณเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าการยื่นหนังสือดังกล่าวจะทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต้องระงับเรื่องการอนุญาตปลูกสร้างอาคารไว้ก่อนเพื่อพิจารณาเรื่องที่จำเลยทั้งสามร้องเรียน ทั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ แล้วปรากฏชัดว่าจำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินที่โจทก์เช่า แต่จำเลยทั้งสามก็ไม่ยอมถอนคำร้องเรียนทำให้การก่อสร้างอาคารของโจทก์จะต้องล่าช้าไปกว่าที่กำหนดไว้ และจะทำให้โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารจากสำนักงานเขตพระนครด้วยจนกระทั่งในที่สุดโจทก์ไม่สามารถทำการก่อสร้างอาคารตามแบบที่กำหนดไว้เดิมได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าออกแบบก่อสร้างโดยไม่ได้ทำการก่อสร้างเป็นเงิน 120,000 บาทและถูกผู้รับเหมาก่อสร้างริบเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ได้ว่าจ้างสถาปนิกทำการออกแบบอาคารใหม่และขออนุญาตก่อสร้างจนได้รับอนุญาตและทำการก่อสร้างไปแล้ว จำเลยทั้งสามจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยยื่นหนังสือฉบับลงวันที่23 กุมภาพันธ์ 2536 และลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 ถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ขอให้สั่งตรวจสอบระงับการก่อสร้าง พิจารณาสั่งรื้อถอนแก้ไขสิ่งปลูกสร้าง อาคารเอ ซึ่งเป็นอาคารหนึ่งในจำนวน 4 หลัง ที่โจทก์กำลังก่อสร้าง โดยอ้างว่ารุกล้ำเข้าไปในเขตอาคารที่จำเลยทั้งสามเช่าซึ่งเป็นความเท็จ ทั้งจำเลยทั้งสามขอให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กำหนดพื้นที่ว่างเป็นส่วนกลางเพื่อให้จำเลยทั้งสามใช้เป็นทางเข้าออก หรือยอมให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้เช่าที่ดินร่วมกับโจทก์ โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาไม่ให้โจทก์สามารถทำการก่อสร้างอาคารได้ตามปกติ ทำให้การก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดและทำให้บุคคลทั่วไปไม่กล้าเข้าทำสัญญาเช่าช่วงหรือรับโอนสิทธิการเช่าจากโจทก์ เพราะมีการร้องเรียนหรือมีข้อพิพาทกับจำเลยทั้งสามอยู่ ทั้งเมื่อบุคคลภายนอกติดต่อเพื่อรับโอนสิทธิการเช่าจากโจทก์ จำเลยทั้งสามกับบริวารก็พยายามพูดจาข่มขู่ว่าหากรับโอนสิทธิการเช่าไปจะมีความเดือดร้อนเพราะจำเลยทั้งสามยังมีข้อพิพาทเรื่องการเช่าที่ดินกับโจทก์อยู่ ทำให้อาคารที่โจทก์สร้างขึ้น 4 หลัง มีผู้รับโอนสิทธิการเช่าเพียงหลังเดียว ส่วนอีก 3 หลัง ไม่มีผู้ใดกล้าเช่าช่วงหรือรับโอนสิทธิการเช่า ทำให้โจทก์เสียหายเพราะอาคารอีก 3 หลัง โจทก์สามารถเรียกเงินค่าตอบแทนจากบุคคลภายนอกได้หลังละ 2,800,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 8,400,000 บาท เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ซึ่งกู้มาก่อสร้างอาคารจำนวน 4,000,000 บาท ซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี หรือเดือนละ 45,000 บาท นอกจากนั้น โจทก์ยังสามารถนำเงินที่เหลือจากใช้หนี้ธนาคารจำนวน 4,400,000 บาท ไปหาประโยชน์ได้ เช่น ฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยอย่างน้อยในอัตราร้อยละ9 ต่อปี หรือเดือนละ 33,000 บาท รวมเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดเดือนละ 78,000 บาท นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2536 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 6 เดือนเศษ แต่โจทก์ขอคิดเพียง 4 เดือนจึงเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด 312,000 บาท รวมค่าเสียหายโจทก์ทั้งหมดเป็นเงิน 532,000 บาทโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามถอนหนังสือฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2536 และฉบับลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และห้ามกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางหรือรบกวนการใช้สิทธิตามสัญญาเช่าของโจทก์กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน532,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 78,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยทั้งสามถอนหนังสือทั้งสองฉบับข้างต้นจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเป็นผู้เช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำเลยทั้งสามอยู่ใกล้เคียงที่พิพาท ดังนี้จำเลยทั้งสามชอบที่จะใช้สิทธิร้องเรียนได้ ส่วนการที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เจ้าของที่ดินจะพิจารณาสั่งการอย่างไรก็หาใช่การกระทำของจำเลยทั้งสามโดยตรงไม่ และไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 จึงให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น ถือว่าโจทก์ทิ้งฎีกาจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบ มาตรา 246, 247 จึงให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความของศาลฎีกา และวินิจฉัยฎีกาโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม2534 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จงใจทำละเมิดและกลั่นแกล้งโจทก์ได้ร่วมกันยื่นหนังสือถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ขอให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์พิจารณาแก้ไขแบบก่อสร้างอาคารตึกแถวของโจทก์ โดยอ้างว่าอาคารที่จะก่อสร้างขึ้นทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่สามารถนำทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ เข้าไปเก็บรักษาในอาคารเลขที่ 547 และไม่สามารถขนวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักร แท่นพิมพ์ เข้าไปในอาคารได้จึงขอให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์พิจารณาสั่งการแก้ไขปรับ เปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้าง หรือจัดให้มีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติกำหนดบริเวณเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน และคำฟ้องอีกตอนหนึ่งบรรยายว่า เจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ เป็นที่ปรากฏชัดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินที่โจทก์เช่า แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ยอมถอนหนังสือร้องเรียนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้การตรวจและอนุญาตแบบก่อสร้างของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต้องใช้เวลาเนิ่นนานออกไปจนในที่สุดโจทก์ก็ไม่สามารถทำการก่อสร้างตามแบบที่ได้กำหนดไว้เดิมได้ ทำให้โจทก์เสียหายต้องเสียค่าออกแบบโดยไม่ได้ก่อสร้างและถูกผู้รับเหมาก่อสร้างริบมัดจำที่ได้ชำระไว้เพื่อก่อสร้างตามแบบดังกล่าว ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ร้องเรียนต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ดังกล่าว แม้ศาลล่างทั้งสองจะเห็นว่าเป็นอำนาจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่จะพิจารณาสั่งการหาใช่การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยตรงไม่ก็จริง แต่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องชัดแจ้งแล้วว่า การร้องเรียนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการจงใจทำละเมิดและกลั่นแกล้งโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายดังกล่าว และคำฟ้องตอนต่อไปที่ว่า วันที่23 กุมภาพันธ์ 2536 และวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังไม่หยุดการกระทำกล่าวคือ หลังจากที่โจทก์ไม่สามารถทำการก่อสร้างตามแบบก่อสร้างเดิมแล้วโจทก์ต้องว่าจ้างสถาปนิกทำการออกแบบอาคารใหม่อีก ซึ่งก็สามารถออกแบบและขออนุญาตก่อสร้างได้จนถึงขั้นลงมือทำการก่อสร้างแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขอให้ตรวจสอบระงับการก่อสร้างสั่งรื้อถอนแก้ไขสิ่งปลูกสร้างอาคารเอง ซึ่งโจทก์กำลังก่อสร้างอยู่ โดยอ้างว่าโจทก์ได้สร้างอาคารผิดจากแนวที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์รุกล้ำเข้าไปในเขตของอาคาร 547 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เช่า โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีเจตนาไม่ให้โจทก์ทำการก่อสร้างอาคารได้ตามปกติ ทำให้การก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดนอกจากนี้ยังปรากฏในคำฟ้องด้วยว่า เมื่อมีบุคคลภายนอกมาติดต่อรับโอนสิทธิการเช่าจากโจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และบริวารได้พูดจาข่มขู่ว่า หากรับโอนสิทธิการเช่าไปก็จะมีความเดือดร้อนเพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังมีข้อพิพาทกับโจทก์อยู่ ทำให้อาคารที่โจทก์สร้างขึ้น 4 หลัง มีผู้รับโอนสิทธิการเช่าเพียงหลังเดียว ส่วนอีก 3 หลัง ไม่มีผู้ใดกล้าเช่าช่วงหรือรับโอนสิทธิการเช่า ดังนี้ การกระทำตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รับคำฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่