คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11774/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เพียงแต่ทำหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับจำเลยที่ 3 ในเรื่องการจองระวางเรือ การรับสินค้า และการชำระค่าระวางและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของ ซ. แทนจำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญารับขนของทางทะเลพิพาทกับ ซ. แทนจำเลยที่ 3 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สินค้าสูญหายไปในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งการสูญหายไปเช่นนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะเสียสิทธิในการจำกัดความรับผิดก็ต่อเมื่อโจทก์พิสูจน์ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการโดยการละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในทางนำสืบของโจทก์ ทั้งไม่มีข้อเท็จจริงอื่นพอที่ศาลจะอนุมานเอาจากพฤติการณ์ทั้งปวงได้ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการการละเลยหรือไม่เอาใจใส่จนเป็นเหตุให้สินค้าพิพาทสูญหายไปตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 (1) จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เสียสิทธิที่จะจำกัดความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 2,199,526.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,127,821.48 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 360,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 กันยายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า บริษัทซันโย (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เอาประกันภัยซื้อสินค้าประเภทกล้องวงจรปิดและเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า 488 ชุด รวมบรรจุในกล่อง 64 กล่อง จากบริษัทซันโย อิเล็กทริค จำกัด ที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยข้อตกลง เอฟโอบี สินค้าจะมีการส่งมอบแก่ผู้ขนส่งทางทะเล โดยบริษัทซันโย อิเล็กทริค (เอชเค) จำกัด ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันขนส่งสินค้าและได้ออกใบตราส่ง ให้แก่บริษัทซันโย อิเล็กทริค (เอชเค) จำกัด ผู้ส่ง โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งอื่นที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้ขนส่งสินค้ามายังประเทศไทยด้วยเรือ ULRIKE F และจำเลยที่ 4 ได้ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 3 สินค้าขนส่งมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ปรากฏว่าสูญหายไป 323 ชุด ราคารวม 60,990 ดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าสูญหายไปในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 วันที่ 5 กันยายน 2554 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้าตามกรมธรรม์ ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทซันโย (ประเทศไทย) จำกัด 2,127,821.48 บาท
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศในการทำสัญญารับขนของทางทะเลพิพาทดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 แต่ก็เป็นตัวแทนในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งเท่านั้น เพราะจำเลยที่ 1 เพียงแต่ติดต่อจำเลยที่ 3 ครั้งแรกครั้งเดียวและเมื่อการขนส่งเสร็จสิ้น จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อบริษัทซันโย (ไทยแลนด์) จำกัด ให้ยืนยันการชำระเงินและรับสินค้ากับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าระวางและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ จากบริษัทซันโย (ไทยแลนด์) จำกัด แล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้ส่งเงินเหล่านั้นให้แก่จำเลยที่ 3 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ตัวแทนที่ทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศที่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 นั้น เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบฟังว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่ทำหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับจำเลยที่ 3 ในเรื่องการจองระวางเรือ การรับสินค้าและการชำระค่าระวางและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของบริษัทซันโย (ไทยแลนด์) จำกัด แทนจำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญารับขนของทางทะเลพิพาทกับบริษัทซันโย (ไทยแลนด์) จำกัด แทนจำเลยที่ 3 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ขนส่งสามารถจำกัดความรับผิดไว้ที่ 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามข้อกำหนดการขนส่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องเป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าเอง การที่สินค้าสูญหายไปโดยมีร่องรอยการเปิดกล่องบรรจุสินค้าทั้ง 36 กล่อง เพื่อเอาสินค้าในนั้นไป แล้วจึงปิดกล่อง แสดงว่าสินค้าถูกลักเอาไปในระหว่างสินค้าอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างยิ่งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 (1) บัญญัติว่า “การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มิให้ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้ (1) การสูญหาย… ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดเว้นกระทำการ โดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้” ในเรื่องเวลาที่สินค้าพิพาทสูญหายไปนั้น ข้อเท็จจริงในส่วนของตัวกล่องและสินค้าภายในนั้นยุติแล้วว่า บริษัทซันโย อิเล็กทริค (เอชเค) จำกัด ส่งมอบสินค้าที่จะขนส่งแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครบถ้วนแล้ว จนกระทั่งจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ตราส่ง โดยระบุว่ามี 64 กล่อง ตามที่รับมอบ แต่เมื่อสินค้าได้รับการขนส่งมาถึงท่าเรือกรุงเทพและเปิดตู้สินค้าแล้ว จึงพบว่าสินค้าหายไป 323 ชุด โดยปรากฏร่องรอยที่กล่องบรรจุว่า มีการแกะ Seal ที่ผนึกกล่องกระดาษไว้ออกเมื่อเอาสินค้าออกจากกล่องแล้วจึงผนึก Seal กลับเข้าไปใหม่ แสดงว่าขณะที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับมอบสินค้าไว้เพื่อการบรรจุเข้าตู้ ปิดตู้ ผนึก Seal และส่งมอบตู้สินค้าแก่จำเลยที่ 4 เพื่อขนส่งต่อไปนั้น สินค้าครบตามจำนวนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับมอบไว้ โดยไม่ปรากฏว่าเมื่อถึงท่าเรือกรุงเทพ ตู้สินค้ามีร่องรอยถูกเปิดออกก่อนที่จะถึงปลายทาง ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สินค้าสูญหายไปในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งการที่สูญหายไปเช่นนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะเสียสิทธิในการจำกัดความรับผิดก็ต่อเมื่อโจทก์พิสูจน์ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ โดยการละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นการละเลยหรือไม่เอาใจใส่อย่างไรนั้น ไม่ปรากฏในทางนำสืบของโจทก์ ทั้งไม่มีข้อเท็จจริงอื่นพอที่ศาลจะอนุมานเอาจากพฤติการณ์ทั้งปวงได้ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นการละเลยหรือไม่เอาใจใส่จนเป็นเหตุให้สินค้าพิพาทสูญหายไปตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เสียสิทธิที่จะจำกัดความรับผิดตามกฎหมาย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในชั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share