คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 643/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำให้การชั้นสอบสวนและบันทึกการชี้ตัวจำเลยจากภาพถ่ายในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายศาลรับฟังเป็นข้อประกอบการพิจารณาได้เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้ศาลรับฟังส่วนจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่สุดแล้วแต่เหตุผลของแต่ละเรื่องไป คดีพยายามฆ่าเหตุเกิดเวลากลางวันขณะที่ผู้เสียหายขึ้นรถยนต์โดยสารประจำทางทางประตูด้านหน้าคนร้ายซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังคนขับก็ยิงผู้เสียหาย2นัดได้รับอันตรายสาหัสในชั้นสอบสวนผู้เสียหายให้การว่าเห็นหน้าคนร้ายและจำได้ชัดเจนและชี้ตัวยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายแต่ก่อนเกิดเหตุมีการขว้างปากันระหว่างผู้โดยสารที่นั่งอยู่ด้านหลังรถกับพวกที่ยืนคอยอยู่ที่ป้ายรถซึ่งน่าจะเกิดการชุลมุนวุ่นวายเพราะผู้โดยสารแย่งกันขึ้นลงและหลบหนีจากรถผู้เสียหายไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าจำเลยมาก่อนได้เห็นคนร้ายในขณะที่ตนถูกยิงเพียงไม่ถึง30วินาทีแล้วก็เซจากรถไปที่ชี้ตัวจำเลยก็ชี้จากภาพถ่ายหลังจากเกิดเหตุแล้วถึง2เดือนในชั้นพิจารณาผู้เสียหายเบิกความว่าจำคนร้ายไม่ได้ไม่ทราบว่าคนร้ายเป็นชายหรือหญิงคำเบิกความปฏิเสธคำให้การในชั้นสอบสวนและการชี้ตัวเช่นนี้น่าจะตรงกับความจริงพยานโจทก์นอกจากนี้คงมีแต่คำให้การในชั้นสอบสวนของส. ท. และช. กับบันทึกการชี้ตัวจำเลยของส. แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ตัวมาเบิกความจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าซึ่งจำเลยไม่มีโอกาสซักค้านแม้จำเลยจะรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวนแต่ให้การต่อศาลปฏิเสธเสียแล้วพยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่พอฟังลงโทษจำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนและพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุสมควร และฐานพยายามฆ่านายนุภาพแทบทับ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานพยายามฆ่า ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติเบื้องต้นจากการนำสืบของโจทก์จำเลยว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 15.30 นาฬิกา ขณะที่นายนุภาพ แทบทับ ผู้เสียหายกำลังขึ้นประตูด้านหน้ารถยนต์โดยสารประจำทางสาย 26 ก็ถูกคนร้ายยิงที่ท้อง กระสุนฝังในได้รับอันตรายสาหัส มีบาดแผลตามรายงานการชันสูตรของแพทย์ท้ายฟ้อง ปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่าจำเลยเป็นคนร้ายยิงผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีนายนุภาพแทบทับ ผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความว่า จำหน้าคนร้ายไม่ได้ไม่ทราบว่าคนร้ายเป็นชายหรือหญิง แตกต่างกับคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน ซึ่งผู้เสียหายให้การว่าเห็นหน้าคนร้ายและจำได้ชัดเจนหากเห็นอีกจำได้ โดยได้ยืนยันชี้ตัวจำเลยจากภาพถ่ายว่าเป็นคนร้ายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2526 ดังที่ปรากฏจากคำให้การในชั้นสอบสวนและบันทึกการชี้ตัวจากภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5 ซึ่งศาลรับฟังได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนเป็นข้อประกอบการพิจารณาของศาล ส่วนจะรับฟังได้เพียงไรหรือไม่นั้น สุดแล้วแต่เหตุผลของแต่ละเรื่องไป สำหรับคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายในคดีนี้เห็นว่า แม้ผู้เสียหายจะได้ยินเสียงดังแชะก่อนเงยหน้าขึ้นมองไปทางเสียงนั้นจนกระทั่งเห็นอาวุธปืนในมือของคนร้ายก็ตาม แต่ก่อนเกิดเหตุมีผู้โดยสารอยู่ทั้งที่บนรถและที่ป้ายรถเมื่อรถจอดก็มีการขว้างปากันระหว่างผู้โดยสารที่นั่งอยู่ด้านหลังรถกับพวกยืนคอยที่ป้ายรถซึ่งน่าจะเกิดการชุลมุนวุ่นวายขึ้นเพราะผู้โดยสารต่างแย่งกันขึ้นลงและหลบหนีจากรถ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฉุกละหุกในทันทีทันใด ประกอบกับผู้เสียหายกับจำเลยไม่เคยรู้จักและเห็นหน้ากันมาก่อน ระยะเวลาที่เห็นก็เพียงประเดี๋ยวเดียวไม่ถึง 30 วินาที ภายหลังถูกยิงแล้วผู้เสียหายได้เซจากรถไปทันทีจึงน่าเชื่อว่าผู้เสียหายเห็นแต่จำคนร้ายไม่ได้ เพราะหากจำได้จริงแล้วพนักงานสอบสวนน่าจะให้ชี้ตัวจำเลยในวันนั้น มิใช่เพิ่งมาให้ชี้ตัวจากภาพถ่ายภายหลังเกิดเหตุถึง 2 เดือน ที่ผู้เสียหายเบิกความปฏิเสธคำให้การในชั้นสอบสวนและการชี้ตัวจำเลยจากภาพถ่ายโดยว่าจำคนร้ายไม่ได้นั้น จึงน่าจะถูกต้องและตรงกับความจริง พยานโจทก์นอกจากนี้คงมีคำให้การในชั้นสอบสวนของนายสุวิทย์ เต็งทองนายทนงศักดิ์ ศรพล นายธรรมนูญ ป้องปัดพาล และบันทึกการชี้ตัวจำเลยของนายสุวิทย์ตามเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.13 ที่โจทก์ไม่ได้ตัวมาเบิกความที่ศาลก็เป็นพยานบอกเล่า ไม่ให้โอกาสจำเลยซักค้านและคำรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวนของจำเลย ซึ่งจำเลยยังปฏิเสธความจริงอยู่ จึงมีน้ำหนักไม่พอฟังลงโทษจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share