คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6429/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่ผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 482(1) นั้น จะต้องได้ความว่าผู้ขายพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของผู้ซื้อได้สูญไปโดยความผิดของผู้ซื้อเอง รถยนต์พิพาทถูกยักยอกมาและได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ติดตามยึดรถไปจากโจทก์ผู้ซื้อด้วยอำนาจของกฎหมาย โดยจำเลยผู้ขายมิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่รถยนต์พิพาทถูกยึดไปนั้นเป็นความผิดของโจทก์แต่อย่างใดจำเลยจึงไม่อาจอ้างเอาข้อยกเว้นการรับผิดในการรอนสิทธิตามข้อกฎหมายที่อ้างมานั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้นำรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า โคโรล่าสีเหลือง มาขายให้โจทก์ โดยบอกโจทก์ว่า รถยนต์คันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อนายทะเบียนยานพาหนะได้ โจทก์หลงเชื่อจึงตกลงซื้อรถไว้ในราคา178,000 บาท ต่อมาโจทก์นำรถยนต์ไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อนายทะเบียนยานพาหนะ จังหวัดสมุทรสงคราม แต่นายทะเบียนไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากมีผู้แจ้งความว่ารถยนต์คันนี้ถูกยักยอกมา คดียังอยู่ในระหว่างสอบสวน แล้วมีเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองราชบุรี กับเจ้าพนักงานตำรวจจากหน่วยป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์กองบัญชาการตำรวจนครบาลมาตรวจและยึดรถยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์ โดยแจ้งว่ามีผู้แจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินีว่ารถยนต์คันนี้ถูกยักยอกมา การที่จำเลยนำรถยนต์ดังกล่าวมาขายให้โจทก์ จำเลยกระทำโดยเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้โจทก์ทราบ การกระทำของจำเลยเป็นการฉ้อโกงโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ติดตามทวงถามให้จำเลยชำระเงินคืนหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 178,000 บาทด้วยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 กับขอให้บังคับจำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 178,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ฉ้อโกงโจทก์ จำเลยไม่ทราบว่ารถยนต์พิพาทเป็นรถที่ถูกยักยอกมา จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่ารถยนต์คันดังกล่าวจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายจึงนำมาขายให้แก่โจทก์ จำเลยได้รับเงินจำนวน 178,000 บาท จากโจทก์ไว้โดยสุจริตและได้ใช้จ่ายจนหมดสิ้นโดยสุจริต จึงไม่ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดอาญาฐานฉ้อโกงสำหรับฟ้องคดีส่วนแพ่งของโจทก์ ให้จำเลยชำระเงินค่ารถยนต์ 178,000 บาท คืนโจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาในคดีส่วนแพ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังว่า เมื่อวันที่5 มิถุนายน 2530 จำเลยได้ขายรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียนก-0740 สมุทรสงคราม ให้โจทก์ในราคา 178,000 บาท โจทก์ชำระเงินให้จำเลยครบถ้วนแล้ว แต่ไม่สามารถโอนทะเบียนมาเป็นของ โจทก์ได้เพราะมีผู้มาแจ้งอายัดไว้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2530 ว่ารถยนต์คันนี้ถูกยักยอกมาคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยจะต้องใช้คืนเงินค่าขายรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ปัญหาข้อนี้จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า รถยนต์พิพาทถูกยึดไปจริงหรือไม่และโจทก์ไม่ได้ให้จำเลยเข้ารู้เห็นเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ที่อ้างว่ารถยนต์พิพาทถูกยึดไป จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 482สำหรับปัญหาที่ว่า รถยนต์พิพาทถูกยึดไปจริงหรือไม่นั้น พยานหลักฐานโจทก์จำเลยรับฟังได้แน่ชัดแล้วว่ารถยนต์พิพาทถูกยึดไปจริงส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ให้จำเลยเข้ารู้เห็นเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ที่อ้างว่ารถยนต์พิพาทถูกยึดไป จำเลยไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 482นั้น เห็นว่า จำเลยผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 482(1) นั้น จะต้องได้ความว่า จำเลยผู้ขายพิสูจน์ได้ว่า สิทธิของผู้ซื้อได้สูญไปโดยความผิดของผู้ซื้อเอง แต่กรณีที่เกิดขึ้นมาในคดีนี้ได้ความว่ารถยนต์พิพาทถูกยักยอกมาและได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ได้ติดตามยึดรถไปจากโจทก์ด้วยอำนาจของกฎหมายโดยจำเลยผู้ขายมิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่รถยนต์พิพาทถูกยึดไปนั้นเป็นความผิดของโจทก์ผู้ซื้อแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่อาจอ้างเอาข้อยกเว้นการรับผิดในการรอนสิทธิตามข้อกฎหมายที่อ้างมานั้นได้
พิพากษายืน

Share