คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6428/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1343 บัญญัติห้ามมิให้ขุดดินจนอาจเป็นอันตรายแก่ความอยู่มั่นแห่งที่ดินที่ติดต่อ เว้นแต่จะจัดการเพียงพอเพื่อป้องกันความเสียหาย ฉะนั้น การที่จำเลยขุดดินลึก 2 เมตร ในแนวตั้งฉากซึ่งมีระยะใกล้ชิดกับแนวเขตที่ดินของโจทก์ อาจทำให้ที่ดินของโจทก์ได้รับความเสียหายพังทลายลงได้ จำเลยจึงต้องจัดการเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ที่ดินของโจทก์ ซึ่งศาลเห็นสมควรให้จำเลยปรับระดับพื้นดินที่ต่อจากที่ดินที่จำเลยถมให้ลาดเอียงสู่พื้นดินในระดับไม่เกิน 45 องศา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยนำดินมาถมในที่ดินที่ขุดไว้จนได้ระดับความลึกไม่เกิน 4 เมตร และห่างจากแนวเขตไม่น้อยกว่า 2 เมตร พร้อมกับให้จำเลยทำเขื่อนที่ขอบพื้นดินที่ขุดตลอดแนวเพื่อกันมิให้ดินพังทลาย หากจำเลยไม่ดำเนินการให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ดำเนินการแทน โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และห้ามมิให้จำเลยขุดดินในที่ดินของจำเลยตามแนวเขตที่ติดกับที่ดินของโจทก์โดยมิได้เว้นระยะห่างจากแนวเขตไม่น้อยกว่า 2 เมตร หรือไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งแห่งส่วนความลึกที่ขุด

จำเลยให้การว่า จำเลยขุดดินในที่ดินของจำเลยเพื่อปลูกต้นไม้และป้องกันน้ำไหลเข้าบ้านซึ่งอยู่ต่ำกว่าบริเวณพื้นดินที่ขุด มีความยาวประมาณ 100 เมตร ลึกประมาณ 1 ถึง 2 เมตร เพื่อปรับพื้นที่ดินให้อยู่ในระดับเดียวกับบ้าน จำเลยขุดดินห่างจากแนวเขตที่ดินของโจทก์ประมาณ 1 ถึง 2 เมตร ซึ่งหลังจากขุดแล้วจำเลยได้ปลูกมะละกอ กล้วยและต้นไม้คลุมดินไว้ ฤดูฝนที่ผ่านมาที่ดินของโจทก์ก็ไม่พังทลาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยถมดินในที่ดินโฉนดเลขที่ 1279 ตำบลพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ตามแนวเขตซึ่งติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 1280 ของโจทก์ ในส่วนที่จำเลยขุดไว้จนอยู่ในระดับเดิมโดยให้มีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินของโจทก์ 1 เมตร และห้ามมิให้จำเลยขุดดินโดยไม่เว้นระยะห่างจากแนวเขตของโจทก์ 1 เมตรหรือกว่านั้น คำขออื่นนอกจากนี้

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1280 ตำบลพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ (เดิมอำเภอพลอยแหวน) จังหวัดจันทบุรี จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1279 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตก มีแนวเขตติดต่อกันจากด้านทิศเหนือลงมาทิศใต้ โดยจำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของตนด้วย 1 หลัง โจทก์ทำรั้วลวดหนามกั้นแนวเขตที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยไว้ ประมาณเดือนเมษายน 2541 จำเลยขุดดินในที่ดินของจำเลยยาวประมาณ 100 เมตร ใกล้แนวเขตที่ดินของโจทก์ จุดที่ขุดบางช่วงห่างจากแนวเขตประมาณ 30 เซนติเมตร ถึง 50 เซนติเมตร บางช่วงขุดเป็นแนวตั้งฉากลึกประมาณ 2 เมตร หลังจากขุดแล้วจำเลยปลูกต้นมะละกอและต้นกล้วยในบริเวณที่ขุด และบางจุดจำเลยได้นำดินมาถมบริเวณที่ขุดให้พื้นที่มีระดับลาดเอียง ภายหลังจากที่จำเลยขุดดินแล้วต้นทุเรียนของโจทก์ที่ปลูกใกล้แนวเขตไม่ได้รับความเสียหาย และเมื่อผ่านฤดูฝนหลังจากที่มีการขุดแล้วรั้วลวดหนามของโจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย มีปัญหาวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจะต้องขุดดินให้ห่างแนวเขตที่ดินของโจทก์ไม่น้อยกว่า 2 เมตร และต้องทำเขื่อนตลอดแนวที่ดินที่ขุดเพื่อป้องกันมิให้ดินในแนวเขตที่ดินของโจทก์พังทลายหรือไม่ สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ขอให้จำเลยขุดดินให้ห่างแนวเขตที่ดินโจทก์ 2 เมตรนั้น โจทก์อ้างในฎีกาว่าบริเวณที่ดินที่จำเลยขุดมีเนื้อที่หลายงานมีสภาพเป็นสระซึ่งจะขุดในระยะ 2 เมตร จากแนวเขตที่ดินของโจทก์ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1342 วรรคหนึ่ง เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยขุดดินจนสภาพพื้นดินที่ขุดเป็นสระนั้น โจทก์ไม่ได้หยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างและนำสืบในศาลชั้นต้น ทั้งตามภาพถ่ายและตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยรับกันว่าจำเลยขุดดินเพื่อปรับพื้นที่ให้อยู่ในระดับเดียวกับบ้านของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าว ถ้าบริเวณที่ขุดมีสภาพเป็นสระเมื่อเวลาฝนตกน้ำย่อมจะท่วมบ้านจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยขุดดินจนมีสภาพเป็นสระอันจะต้องเว้นระยะห่างจากแนวเขตที่ดิน 2 เมตร ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ขอให้จำเลยสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดินของโจทก์ตามแนวเขตที่ดินพังทลายนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าเมื่อจำเลยขุดดินเสร็จและผ่านฤดูฝนไปแล้ว ที่ดิน ต้นทุเรียน และรั้วลวดหนามของโจทก์ที่ติดอยู่กับแนวเขตที่ดินของจำเลยยังไม่ได้รับความเสียหาย จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1343 บัญญัติห้ามมิให้ขุดดินจนอาจเป็นอันตรายแก่ความอยู่มั่นแห่งที่ดินติดต่อเว้นแต่จะจัดการเพียงพอเพื่อป้องกันความเสียหาย การที่จำเลยขุดดินลึก 2 เมตรในแนวตั้งฉากมีระยะใกล้ชิดกับแนวเขตที่ดินของโจทก์ ที่ดินของโจทก์อาจได้รับความเสียหายพังทลายลงได้ ดังนั้น จำเลยจึงต้องจัดการเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ที่ดินของโจทก์ มีปัญหาว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยถมที่ดินที่ติดกับแนวเขตที่ดินของโจทก์ให้อยู่ในระดับเดิม โดยให้มีระยะห่างจากแนวเขต 1 เมตร นั้น เพียงพอที่จะป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่ที่ดินของโจทก์แล้วหรือไม่ เห็นว่าแม้ว่าจำเลยจะต้องถมที่ดินให้แนวเขตที่ขุดอยู่ห่างแนวเขตที่ดินโจทก์ 1 เมตร แต่ถ้าการถมหรือขุดอยู่ในแนวดิ่ง ที่ดินนั้นก็อาจพังทลายลงได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันที่ดินของโจทก์ตามแนวเขตที่ดินที่จำเลยขุด จึงเห็นสมควรให้จำเลยปรับระดับพื้นดินที่ต่อจากที่ดินที่จำเลยถมตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ลาดเอียงสู่พื้นดินไม่เกิน 45 องศาด้วย เมื่อจำเลยดำเนินการดังกล่าวแล้วน่าจะเพียงพอที่จะป้องกันความเสียหายแก่ที่ดินของโจทก์ได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า เมื่อจำเลยถมดินจนอยู่ในระดับเดิมโดยมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดิน 1 เมตร แล้วให้จำเลยปรับระดับพื้นดินที่ต่อจากที่ดินที่จำเลยถมให้ลาดเอียงลงสู่พื้นดินของจำเลยในระดับไม่เกิน 45 องศา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share