คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยกับโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่ แต่มิได้จดทะเบียนหย่ากัน จำเลยกับโจทก์ก็ยังคงมีฐานะเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ดังนั้น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินชดเชย เงินค่าตอนแทนพิเศษเนื่องจากการลาออก เงินค่าหุ้นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ และเงินโบนัส ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิในจำนวนเงินพิพาทร่วมกับจำเลย
การจัดการสินสมรสนอกเหนือจากกรณีตามมาตรา 1476 วรรคหนึ่ง จำเลยหรือโจทก์ย่อมมีอำนาจจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่การจัดการสินสมรสจะต้องจัดการด้วยความระมัดระวังไม่ให้เป็นที่เสียหายและต้องไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความเสียหายแก่สินสมรสตามมาตรา 1476 วรรคสอง และมาตรา 1484 (1) ถึง (5) เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายจัดการสินสมรส แต่การที่จำเลยมอบอำนาจให้สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ รับเงินต่าง ๆ ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากการไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งค่าหุ้นของจำเลยในสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ไปชำระหนี้จำนอง โดยโจทก์มิได้รู้เห็นหรือให้สัตยาบันในหนี้จำนองส่วนนี้ และเมื่อชำระหนี้จำนองของจำเลยบางส่วนแล้ว จำเลยยังได้รับเงิน 564,825 บาท ไปจากการไฟฟ้านครหลวงอีกด้วย ซึ่งจำเลยก็นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียวโดยโจทก์และบุตรมิได้รับการช่วยเหลือหรือเลี้ยงดูจากจำเลยแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ขอแบ่งสินสมรสที่คงเหลือกึ่งหนึ่ง จำเลยไม่ยินยอมและอ้างว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่สินสมรส พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการจัดสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด และทำความเสียหายให้แก่สินสมรส รวมทั้งไม่นำเงินสินสมรสนั้นมาอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีเหตุสมควรขอให้แยกสินสมรสได้ตามมาตรา 1484 (1) (2) (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2516 และมีบุตรด้วยกัน 2 คน ซึ่งบุตรคนสุดท้ายเป็นคนทุพพลภาพ โจทก์เป็นแม่บ้าน ส่วนจำเลยเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจทำงานที่การไฟฟ้านครหลวง ปี 2526 จำเลยแยกไปอยู่กินฉันสามีภริยากับหญิงอื่นแต่ยังคงอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรทั้งสองบ้าง จนกระทั่งปี 2543 จำเลยไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตร จำเลยได้ลาออกจากการไฟฟ้านครหลวงเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2544 เป็นการลาออกก่อนเกษียณอายุ จำเลยได้รับเงินต่าง ๆ และเงินค่าหุ้นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์รวมเป็นเงิน 2,241,340 บาท เงินดังกล่าวเป็นสินสมรส โจทก์ขอแบ่งเพื่อเก็บไว้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตร จำเลยเพิกเฉยและไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตร จำเลยมีพฤติการณ์ชอบเที่ยวและติดพันนักร้อง หากให้จำเลยจัดการสินสมรสทั้งหมดตามลำพังอาจทำความหายนะให้แก่สินสมรสได้ ขณะนี้มีสินสมรสเหลือเพียง 1,221,340 บาท โจทก์ขอแยกส่วนของโจทก์กึ่งหนึ่งออกมาจัดการเองเป็นเงิน 610,670 บาท และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรซึ่งเป็นคนทุพพลภาพเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์ 610,670 บาท และให้โจทก์เป็นผู้จัดการสินสมรสดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว กับให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แยกสินสมรสจำนวน 610,670 บาท ออกเป็นส่วนของโจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2516 มีบุตรด้วยกัน 2 คน จำเลยทำงานที่การไฟฟ้านครหลวง ส่วนโจทก์เป็นแม่บ้าน ต่อมาปี 2526 โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ ปี 2544 จำเลยลาออกจากการไฟฟ้านครหลวง และได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้านครหลวงจำนวน 1,020,000 บาท เงินชดเชย 6 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้ายเป็นเงิน 172,890 บาท เงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากการลาออกจากโครงการร่วมใจจากการไฟฟ้านครหลวงจำนวน 30 เท่าของเงินเดือนสุดท้ายเป็นเงิน 864,450 บาท เงินค่าหุ้นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง จำกัด จำนวน 186,000 บาท เงินโบนัส 1 เดือน จำนวน 28,815 บาท รวมเป็นเงิน 2,272,155 บาท ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า เงินพิพาทที่จำเลยได้รับเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยกับโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่ แต่เมื่อยังมิได้จดทะเบียนหย่ากัน จำเลยกับโจทก์ก็ยังคงมีฐานะเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้านครหลวง เงินชดเชย เงินค่าตอบแทนพิเศษเนื่องจากการลาออก เงินค่าหุ้นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ และเงินโบนัส รวมเป็นเงิน 2,272,155 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์จึงย่อมมีสิทธิในจำนวนเงินพิพาทดังกล่าวร่วมกับจำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า มีเหตุสมควรแยกสินสมรสดังกล่าวให้โจทก์มีอำนาจจัดการหรือไม่ เห็นว่า การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง จำเลยหรือโจทก์ย่อมมีอำนาจจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่การจัดการสินสมรสจะต้องจัดการด้วยความระมัดระวังไม่ให้เป็นที่เสียหาย และต้องไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความเสียหายแก่สินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 วรรคสอง และมาตรา 1484 (1) (5) เมื่อได้ความว่าจำเลยเป็นฝ่ายจัดการสินสมรส แต่การที่จำเลยมอบอำนาจให้สหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง จำกัด รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ เงินชดเชย เงินโบนัส และเงินได้อื่น ๆ ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากการไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งเงินค่าหุ้นของจำเลยในสหกรณ์ออมทรัพย์ชำระหนี้จำนองโดยโจทก์มิได้รู้เห็นหรือให้สัตยาบันในหนี้จำนองส่วนนี้ และสหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง จำกัด ได้รับเงินค่าหุ้นของจำเลยจำนวน 186,000 บาท และรับเงินจากการไฟฟ้านครหลวง จำนวน 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 486,000 บาท นำมาชำระหนี้จำนองของจำเลยบางส่วนแล้ว ปรากฏว่าจำเลยยังได้รับเงินจำนวน 564,825 บาท ไปจากการไฟฟ้านครหลวงอีกแล้วด้วย ซึ่งเงินจำนวนหลังนี้จำเลยก็นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียวโดยโจทก์และบุตรมิได้รับการช่วยเหลือเลี้ยงดูจากจำเลยแต่อย่างใด ขณะนี้คงเหลือเงินสินสมรสอยู่เพียง 1,221,340 บาท เมื่อโจทก์ขอแบ่งสินสมรสที่คงเหลือกึ่งหนึ่ง จำเลยไม่ยินยอมและอ้างว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่สินสมรส พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด และทำความเสียหายให้แก่สินสมรส รวมทั้งไม่นำเงินสินสมรสนั้นมาอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีเหตุสมควรร้องขอให้แยกสินสมรสได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1484 (1) (2) (5) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิขอให้แยกสินสมรสส่วนที่เหลืออยู่ออกเป็นส่วนของโจทก์กึ่งหนึ่งจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share