คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1615/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางจำเลยมิได้ถูกควบคุมตัวอยู่ดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง เพราะหลบหนีไปจากสถานพินิจฯ เมื่อไม่มีตัวจำเลยอยู่ในความควบคุมของศาลในขณะฟ้อง ก็ไม่ชอบที่ศาลจะสั่งประทับฟ้องไว้ ทั้งการควบคุมดังกล่าวก็เป็นการควบคุมในชั้นสอบสวนตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.2494 มาตรา 24แก้ไขโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2506 มาตรา 7 ซึ่งอยู่ในอำนาจของผู้อำนวยการสถานพินิจ ไม่เกี่ยวกับศาล
“ขัง” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(22) หมายถึงการกักขังจำเลยหรือผู้ต้องหาโดยศาล แต่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจศาลคดีเด็กและเยาวชนนั้นไม่ใช่คดีธรรมดา การควบคุมตัวจำเลยในระหว่างการสอบสวน เป็นการควบคุมโดยผู้อำนวยการสถานพินิจ ตัวจำเลยยังมิได้ผ่านเข้ามาอยู่ในความควบคุมของศาลเลยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 33ยังมีความชี้ให้เห็นด้วยว่า จำเลยจะเข้ามาอยู่ในความควบคุมของศาลก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษตำรวจจับจำเลยได้ในวันเดียวกัน ระหว่างสอบสวน จำเลยถูกควบคุมตัวแต่วันจับ ต่อมาจึงส่งตัวจำเลยไปสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางจำเลยยังถูกควบคุมอยู่ ขอให้ศาลเบิกตัวจำเลยมาพิจารณา
ชั้นแรกศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้อง และมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางควบคุมตัวจำเลย ต่อมาความปรากฏว่าจำเลยได้หลบหนีจากการควบคุมของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางไปแล้วก่อนวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าจำเลยหลบหนีก่อนศาลประทับฟ้อง ถือว่าไม่มีตัวจำเลยอยู่ในอำนาจศาล ให้เพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องที่ผิดระเบียบ และมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่ประทับฟ้องจำหน่ายคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเด็กและเยาวชนพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนวินิจฉัยว่า คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ขณะที่ยื่นฟ้อง จำเลยมิได้ถูกควบคุมตัวอยู่ดังที่โจทก์กล่าวไว้ในฟ้องความจริงจำเลยได้หลบหนีไปจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางก่อนแล้ว เมื่อไม่มีตัวจำเลยอยู่ในความควบคุมของศาลในขณะฟ้อง ก็ไม่ชอบที่ศาลจะสั่งประทับฟ้องไว้ ที่จำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางแต่เบื้องแรกก็เป็นการควบคุมในชั้นสอบสวนตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๒๔ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๐๖ มาตรา ๗ การควบคุมตัวจำเลยอยู่ในอำนาจของผู้อำนวยการสถานพินิจ ไม่เกี่ยวกับศาล
ที่โจทก์ฎีกาอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๒ วรรค ๓ ว่า ถ้าได้มีการฝากขังหรือผัดฟ้อง (สำหรับศาลคดีเด็กและเยาวชน) ไว้ก่อนแล้ว ก็เท่ากับจำเลยอยู่ในอำนาจศาลที่จะเบิกมาได้ศาลควรจะประทับฟ้องตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๓๕/๒๕๑๔ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามบทกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว เป็นคดีธรรมดาที่ตัวจำเลยอยู่ในอำนาจของศาลอยู่แล้ว “ขัง” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒(๒๒) หมายความถึงการกักขังจำเลยหรือผู้ต้องหาโดยศาล แต่คดีนี้ไม่ใช่คดีธรรมดาการควบคุมตัวจำเลยในระหว่างสอบสวนเป็นการควบคุมโดยผู้อำนวยการสถานพินิจตัวจำเลยยังมิได้ผ่านเข้ามาอยู่ในความควบคุมของศาลเลยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๓๓ ยังมีความชี้ให้เห็นด้วยว่า จำเลยจะเข้ามาอยู่ในความควบคุมของศาลก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาล ศาลเห็นเป็นการสมควรที่จะควบคุมจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณา และได้สั่งให้ควบคุมไว้ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share