คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3252/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 109 ฟ้องว่า โจทก์แต่ละคนเป็นสมาชิกและผู้รับประโยชน์ของสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ฯ ของจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงกับฝ่ายจำเลยว่า จำเลยทั้งหกจะจ่ายเงินสงเคราะห์ศพให้แก่สมาชิกที่เสียชีวิต แต่ปรากฏว่าเมื่อมีสมาชิกเสียชีวิตและมีการไปขอรับเงินสงเคราะห์ศพเพื่อจัดการศพได้รับแจ้งจากจำเลยทั้งหกว่าไม่มีเงินจ่ายสงเคราะห์ศพ และอ้างว่าสมาชิกทุกคนลาออกหมดแล้วซึ่งความจริงสมาชิกยังมิได้ลาออก และไม่ได้กระทำผิดระเบียบจนกระทั่งมีการแจ้งความร้องทุกข์และพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชนกับจำเลยทั้งหก โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าจึงทราบว่าจำเลยทั้งหกกระทำผิดข้อตกลงและสัญญาและเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาโดยปริยาย จำเลยทั้งหกจึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าตามทุนทรัพย์ที่ได้ชำระหรือชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าได้ชำระแก่จำเลยทั้งหก ถือได้ว่าโจทก์แต่ละคนมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 วรรคหนึ่ง จึงร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกมาในคดีเดียวกันได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 109 ซึ่งเป็นสมาชิกและผู้รับประโยชน์ของสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกันชำระค่าสมาชิกที่ชำระไปแล้วคืนแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 109 โดยขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องขออนาถา
ระหว่างการไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 เนื่องจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 4 ออกจากสารบบความ ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 109 โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 109 ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ถึงที่ 8 ให้ร่วมกันชดใช้เงินคืนโจทก์แต่ละคนโดยแบ่งแยกความรับผิดของจำเลยทั้งหกที่มีต่อโจทก์แต่ละคนออกเป็นส่วน ๆ คนละจำนวนกันและขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งหกแยกชำระเงินตามจำนวนของโจทก์แต่ละคนไป ซึ่งมูลเหตุแห่งการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวก็เนื่องมาจากสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ที่ 1 หรือเป็นผู้รับประโยชน์แล้วแต่กรณี และการผิดสัญญาหรือละเมิดของจำเลยทั้งหกทำให้โจทก์แต่ละคนเกิดสิทธิเรียกร้องเงินที่จ่ายคืนจากจำเลยทั้งหก ซึ่งการเป็นสมาชิกก็ดี การผิดสัญญาหรือละเมิดก็ดี ล้วนเกิดขึ้นคนละคราวคนละวาระกัน โจทก์แต่ละคนจึงสามารถที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเหนือจำเลยทั้งหกแยกมาเป็นราย ๆ ไปโดยการฟ้องเป็นคนละคดีได้อยู่แล้ว โจทก์แต่ละคนจึงหามีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีไม่ โจทก์จึงไม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมหรือฟ้องมาในคดีเดียวกันได้ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 ศาลไม่อาจรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปได้ กรณีไม่จำต้องสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาอีกจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 109 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแต่เพียงว่า สำเนาให้ฝ่ายจำเลยรอฟังคู่ความอีกฝ่ายก่อนว่าจะยื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 และจะคัดค้านคำร้องดังกล่าวหรือไม่ และสั่งในอุทธรณ์ว่ารับอุทธรณ์ ให้ผู้อุทธรณ์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายภายใน 15 วัน มิฉะนั้น ถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ฝ่ายจำเลยคงยื่นแต่คำแก้อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ารับเป็นคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยสำเนาให้โจทก์ปิดหมาย และต่อมาได้รวบรวมสำนวนส่งไปที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาแล้วเห็นว่า พอแปลได้ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว จึงให้ส่งสำนวนพร้อมเอกสารมายังศาลฎีกา โดยให้มีหนังสือแจ้งไปยังศาลชั้นต้นด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 109 เข้าร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ถึงที่ 8 ในคดีเดียวกันได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์แต่ละคนเป็นสมาชิกและผู้รับประโยชน์ของสมาชิกของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์แต่ละคนอ้างว่ามีข้อตกลงกับฝ่ายจำเลยว่า จำเลยทั้งหกจะจ่ายเงินสงเคราะห์ศพให้แก่สมาชิกที่เสียชีวิต แต่ปรากฏว่าสมาชิกที่เสียชีวิตลงและไปขอรับเงินสงเคราะห์ศพเพื่อจัดการศพ ได้รับแจ้งจากจำเลยทั้งหกว่าไม่มีเงินจ่ายสงเคราะห์ศพ และอ้างว่าสมาชิกทุกคนได้ลาออกหมดซึ่งความจริงสมาชิกยังมิได้ลาออก และไม่ได้กระทำผิดระเบียบ ซึ่งต่อมาสมาชิกได้ชุมนุมกันขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 ณ ที่ว่าการอำเภอสมเด็จ จนกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจำเลยทั้งหกและนัดให้สมาชิกมาชุมนุมฟังผลในวันที่ 25 ธันวาคม 2541 ผลปรากฏว่าจำเลยทั้งหกทำผิดระเบียบข้อบังคับ และพระราชบัญญัติฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2517 และผิดต่อประมวลกฎหมายอาญาข้อหาฉ้อโกงประชาชนและสมาชิกได้แต่งตั้งตัวแทนแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสมเด็จในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าจึงทราบว่าจำเลยทั้งหกกระทำผิดข้อตกลงและสัญญาที่ให้ไว้ข้างต้นและเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาโดยปริยาย จำเลยทั้งหกจึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าตามทุนทรัพย์ที่ได้ชำระหรือชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าได้ชำระแก่จำเลยทั้งหก ดังนี้ ถือว่าโจทก์แต่ละคนมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี โจทก์แต่ละคนอาจฟ้องเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้ ที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องโจทก์แต่ละคนนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องและให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเกี่ยวกับการไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา

Share