คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3270-3272/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การโต้แย้งคัดค้านเหตุผลแห่งข้อวินิจฉัยในคำพิพากษา โดยไม่ประสงค์ถึงกับให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปนั้น หาจำต้องถึงขั้นทำเป็นอุทธรณ์ไม่ เมื่อจำเลยโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาโดยทำเป็นเพียงคำแก้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยังไม่ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและถือเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งได้ และไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่าโจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามสำนวนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 และนับโทษจำเลยในแต่ละสำนวนติดต่อกัน ทั้งนับโทษต่อจากโจทก์ของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 182, 183, 184, 187 และ 189/2542 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นางสาวผกายมาศ สุวพณิชพันธุ์หรือสุวพณิชยพันธุ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินจำนวน 4 ฉบับ ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2540 จำนวนเงิน 5,000,000 บาท ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2540 จำนวนเงิน 10,000,000 บาท ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2540 จำนวนเงิน 5,000,000 บาท และลงวันที่ 25 มิถุนายน 2540 จำนวนเงิน 5,000,000 บาท สัญญากู้เงินทั้งสี่ฉบับระบุผู้ให้กู้คือโจทก์ร่วมตามเอกสารหมาย จ.1 จ.6 จ.12 และ จ.16 กับจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานพระปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นเช็คพิพาทในคดีนี้จำนวน 4 ฉบับ ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2540 จำนวนเงิน 5,000,000 บาท ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2540 จำนวนเงิน 10,000,000 บาท ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2540 จำนวนเงิน 5,000,000 บาท และลงวันที่ 25 ธันวาคม 2540 จำนวนเงิน 5,000,000 บาท เช็คทั้งสี่ฉบับเป็นเช็คผู้ถือตามเอกสารหมาย จ.2 จ.7 จ.13 และ จ.17 โดยวันที่ลงในเช็คแต่ละฉบับจะตรงกับวันถึงกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินแต่ละฉบับเช่นกัน แต่เมื่อเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 จ.7 จ.13 และ จ.17 ถึงกำหนด โจทก์ร่วมนำเข้าบัญชีเรียกเงินจากธนาคารตามเช็ค แต่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับเนื่องจากจำเลยมีคำสั่งระงับการจ่ายเงินตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.3 จ.9 จ.15 และ จ.19 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นฎีกาของโจทก์ร่วมข้อแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่า จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 จ.6 จ.12 และ จ.16 จำเลยเพียงแต่แก้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวเท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นเพียงค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เงินทั้งสี่ฉบับดังกล่าวเท่านั้น จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หรือไม่ เห็นว่า การโต้แย้งคัดค้านเหตุผลแห่งข้อวินิจฉัยในคำพิพากษา โดยไม่ประสงค์ถึงกับให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปนั้นหาจำต้องถึงขั้นทำเป็นอุทธรณ์ไม่ ฉะนั้น เมื่อจำเลยโต้แย้งคัดค้านโดยทำเป็นเพียงคำแก้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยังไม่ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและถือเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งได้ และไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษากลับ จำเลยทั้งสามสำนวนมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (2) และ (5) ลงโทษเป็นรายสำนวนและรายกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และนับโทษต่อกัน สำนวนแรกลงโทษจำคุก 9 เดือน สำนวนที่สองลงโทษจำคุก 9 เดือน สำนวนที่สามลงโทษจำคุกกระทงละ 9 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมโทษทั้งสามสำนวนจำคุก 3 ปี นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3639/2544 ของศาลชั้นต้น ส่วนคำขอให้นับโทษต่อจากคดีอาญาอื่นนอกจากนี้ให้ยก เพราะคดีดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้อง

Share