คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10387/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 73 บัญญัติว่า “ในกรณีมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นหรือบุคคลซึ่งความเป็นอยู่หรือใช้สอยที่ดินหรืออาคารถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา” ก็ตาม แต่ฐานะของผู้เสียหายตามที่บัญญัติในมาตรา 73 ดังกล่าวเป็นสิทธิในการดำเนินคดีในทางอาญาต่อจำเลยผู้กระทำความผิดเท่านั้น อำนาจในการที่จะสั่งให้รื้อถอนอาคารหรือส่วนต่อเติมที่ผิดกฎหมายถือเป็นมาตรการที่จะบังคับกันในทางแพ่ง ซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้เป็นอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตลอดจนวิธีการที่เจ้าพนักงานจะปฏิบัติเป็นขั้นตอนไปดังปรากฏตามมาตรา 40 และ 42 ในหมวด 4 ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะฟ้องบังคับจำเลยเพื่อให้รื้อถอนระเบียงที่ต่อเติมผิดกฎหมายอันเป็นอำนาจหน้าที่ในทางแพ่งโดยเฉพาะของเจ้าพนักงานท้องถิ่น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนผนัง ระเบียง ชายคา ส่วนที่อยู่ใกล้ที่ดินของโจทก์ให้ห่างจากแนวเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนออกไป
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนระเบียงส่วนที่อยู่ห่างเขตที่ดินของโจทก์น้อยกว่า 2 เมตร กับให้รื้อถอนกันสาดที่ทำให้น้ำฝนตกลงยังที่ดินของโจทก์ได้ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยมีที่ดินอยู่ติดทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ เมื่อต้นปี 2549 จำเลยได้ก่อสร้างอาคารบ้านพักในที่ดินของจำเลย แต่ผนัง ระเบียงและชายคาอยู่ใกล้ชิดกับแนวเขตที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย สำหรับประเด็นการก่อสร้างผนังอาคารของจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าการก่อสร้างไม่ต้องห้ามตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 พ.ศ.2543 ข้อ 50 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เมื่อโจทก์ไม่ฎีกาประเด็นการก่อสร้างผนังจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ส่วนประเด็นการก่อสร้างชายคานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกันสาดที่ทำให้น้ำฝนตกลงยังที่ดินของโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยเห็นพ้องด้วยและอ้างว่าจำเลยได้รื้อถอนกันสาดรูปโค้งแนวเดียวกับกำแพงออกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเท่ากับจำเลยยอมรับว่าการก่อสร้างชายคาบ้านเป็นการละเมิดต่อโจทก์จริง ส่วนจำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วน แล้วหรือไม่ เป็นเรื่องการบังคับคดี จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นนี้อีกต่อไป คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะประเด็นการสร้างระเบียงอาคารของจำเลยเท่านั้น
จำเลยฎีกาประการแรกว่า จำเลยไม่ได้สร้างระเบียงอยู่ห่างแนวเขตที่ดินน้อยกว่า 2 เมตรนั้น เห็นว่า จำเลยยื่นคำให้การว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านตามแบบแปลนที่ได้รับอนุมัติรับรองจากบุคคลและหรือส่วนราชการ จำเลยปลูกสร้างถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 พ.ศ.2543 ข้อ 50 ตามคำให้การของจำเลยไม่ได้ต่อสู้อย่างแน่แท้ว่าจำเลยสร้างระเบียงอยู่ห่างเขตที่ดินเป็นระยะเท่าใด จำเลยจึงไม่ได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้งไว้ในคำให้การของตน ถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยก่อสร้างระเบียงอยู่ห่างแนวเขตที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยน้อยกว่า 2 เมตร ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า อำนาจในการรื้อถอนอาคารก่อสร้างที่ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานของรัฐโดยเฉพาะนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไว้ตามมาตรา 40 ถึง 49 ทวิ เพื่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นควบคุมดูแลผู้ที่ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรมและการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรซึ่งเป็นเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีลักษณะคุ้มครองกิจการของรัฐและความสงบสุขของประชาชนส่วนรวม แม้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 73 ได้บัญญัติว่า “ในกรณีมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นหรือบุคคลซึ่งความเป็นอยู่หรือการใช้สอยที่ดินหรืออาคารถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา” ก็ตาม แต่ฐานะของผู้เสียหายตามที่บัญญัติในมาตรา 73 ดังกล่าวเป็นสิทธิในการดำเนินคดีในทางอาญาต่อจำเลยผู้กระทำความผิดเท่านั้น อำนาจในการที่จะสั่งให้รื้อถอนอาคารหรือส่วนต่อเติมที่ผิดกฎหมายถือเป็นมาตรการที่จะบังคับกันในทางแพ่งซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้เป็นอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของ เจ้าพนักงานท้องถิ่น ตลอดจนวิธีการที่เจ้าพนักงานจะปฏิบัติเป็นขั้นตอนไปดังปรากฏตามมาตรา 40 และ 42 ในหมวด 4 ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะฟ้องบังคับจำเลยเพื่อให้รื้อถอนระเบียงที่ต่อเติมผิดกฎหมายอันเป็นอำนาจหน้าที่ในทางแพ่งโดยเฉพาะของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยรื้อถอนระเบียง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share