คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6421/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิบตำรวจโท ส. จำเลยได้ใช้อาวุธปืนพกขนาด .357ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายของจำเลยยิงไปที่รถยนต์บรรทุกคันกระสุนปืนถูกที่ตัวถังรถบริเวณประตูด้านคนขับและประตูตู้ท้ายรถ ในขณะที่ผู้เสียหายนั่งอยู่ที่ที่นั่งคนขับ จุดที่กระสุนปืนถูกที่ประตูรถยนต์ที่ผู้เสียหายขับเป็นจุดที่อยู่ตรงที่นั่งคนขับในระดับที่จะถูกร่างกายของผู้เสียหายพอดี แต่เนื่องจากกระสุนปืนทะลุไปถูกเหล็กกันกระแทกด้านข้าง จึงไม่ทะลุต่อไปไม่เช่นนั้นกระสุนคงจะถูกร่างกายของผู้เสียหายแน่นอน จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมรู้อยู่แก่ใจดีแล้วว่า อาวุธปืนพกขนาด .357 เป็นอาวุธที่มีอานุภาพการทำลายร้ายแรงจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำว่ากระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ถือได้ว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายจำเลยจึงต้องมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย
สิบตำรวจโท ส. จำเลยเพียงแต่ต้องการจับกุมผู้เสียหายที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการจอดรถในที่ห้ามจอดซึ่งเป็นความผิดเพียงเล็กน้อย (ระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท) จำเลยหามีสิทธิที่จะใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นการใช้มาตรการในการจับกุมที่รุนแรงที่สุดไม่ หากผู้เสียหายไม่ยอมให้จับกุมและจะขับรถหลบหนีไป จำเลยก็เพียงแต่ใช้วิทยุแจ้งป้อมยามข้างหน้าที่คาดว่ารถของผู้เสียหายจะขับผ่านให้ช่วยสกัดจับหรือขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปสกัดจับก็น่าจะทำได้ แต่การที่จำเลยนำอาวุธปืนมาใช้ในกรณีนี้นอกจากจะไม่มีสิทธิจะกระทำได้แล้วยังเป็นการกระทำที่เกินจำเป็นที่จะใช้ในการจับกุมอีกด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 33, 80, 288 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ลงโทษจำคุก 12 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง นับเป็นเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 9 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้ใช้อาวุธปืนพกขนาด .357 ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายของจำเลยยิงไปที่รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 84-5588 กรุงเทพมหานคร กระสุนปืนถูกที่ตัวถังรถบริเวณประตูด้านคนขับและประตูตู้ท้ายรถ โดยที่ขณะนั้นมีนายนันทพงศ์ ผู้เสียหายนั่งอยู่ที่ที่นั่งคนขับ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า จุดที่กระสุนปืนถูกที่ประตูรถยนต์ที่ผู้เสียหายขับนั้นเป็นจุดที่อยู่ตรงที่นั่งคนขับในระดับที่จะถูกร่างกายของผู้เสียหายพอดี แต่เนื่องจากกระสุนปืนทะลุไปถูกเหล็กกันกระแทกด้านข้าง จึงไม่ทะลุต่อไปเพียงแต่ไปถูกที่แผ่นพลาสติกบุภายในตัวรถเท่านั้น ไม่เช่นนั้นกระสุนคงจะถูกร่างกายของผู้เสียหายแน่นอน การที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมรู้อยู่แก่ใจดีแล้วว่า อาวุธปืนพกขนาด .357 เป็นอาวุธที่มีอานุภาพการทำลายร้ายแรงยิงไปยังจุดที่ผู้เสียหายนั่งอยู่เช่นนี้ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นว่า กระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ ดังนั้นจึงถือได้ว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย
ที่จำเลยฎีกาโต้แย้งว่าหากจำเลยจะยิงเพื่อฆ่าผู้เสียหายจริงแล้วจำเลยก็สามารถจะกระทำได้ เพราะจำเลยยืนอยู่ห่างผู้เสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เป็นเพราะจำเลยต้องการข่มขู่ผู้เสียหายให้เกรงกลัวแล้วจะเข้าจับกุมเท่านั้น เห็นว่า การที่จำเลยเพียงแต่ต้องการจับกุมผู้เสียหายที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการจอดรถในที่ห้ามจอดซึ่งเป็นความผิดเพียงเล็กน้อย จำเลยหามีสิทธิที่จะใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นการใช้มาตรการในการจับกุมที่รุนแรงที่สุดได้ไม่ หากผู้เสียหายไม่ยอมให้จับกุมและจะขับรถหลบหนีไป จำเลยก็เพียงแต่ใช้วิทยุแจ้งป้อมยามข้างหน้าที่คาดว่ารถของผู้เสียหายจะขับผ่านให้ช่วยสกัดจับหรือขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปสกัดจับก็น่าจะทำได้ แต่การที่จำเลยนำอาวุธปืนมาใช้ในกรณีนี้นอกจากจะไม่มีสิทธิจะกระทำได้แล้วยังเป็นการกระทำที่เกินจำเป็นที่จะใช้ในการจับกุมอีกด้วย ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษแก่จำเลยและพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share