แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “วัตถุออกฤทธิ์ หมายความว่าวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ฉะนั้นวัตถุสิ่งใดหรือวัตถุออกฤทธิ์ใดจะเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ต้องเป็นสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเป็นข้อสำคัญ ดังนี้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 97(พ.ศ. 2539)ให้ยกเลิกประกาศฉบับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตัวยาบางประเภทโดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีนและแอมเฟตามีนเสียแล้วและตามบัญชีท้ายประกาศก็มิได้ระบุว่ายาทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ แต่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) และบัญชีท้ายประกาศ ข้อกำหนดดังกล่าวย่อมมีผลไปถึงกฎหมายฉบับอื่นที่ได้ระบุไว้เป็นการทั่ว ๆ ไปของคำว่า วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไปด้วยในตัวการที่จำเลยขับรถยนต์ในขณะเสพเมทแอมเฟตามีน จึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,157 ทวิ วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่จำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3 ทวิ), 127 ทวิพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,157 ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 30,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นับจากวันพิพากษา
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ไม่ลงโทษปรับ ยกฟ้องข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกและยกคำขอพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(6)(7) และมาตรา 215 หรือไม่ เห็นว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1ได้วินิจฉัยถึงเหตุผลและบทมาตราแห่งกฎหมายไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ขณะเกิดเหตุประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) และฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) กำหนดให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 โดยไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่ามีข้อสำคัญตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวตามที่โจทก์อ้างถึงครบถ้วนแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่งและมาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่ง หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฎีกาในทำนองว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539)และฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) ไม่มีผลให้ยกเลิกกฎหมายเพียงแต่ให้ยกเลิกชื่อยาและประเภทยา ปรับเปลี่ยนไปเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 อันเป็นกฎหมายคนละฉบับและมีโทษสูงกว่าแต่กลุ่มตัวยาและคุณสมบัติเป็นตัวยาที่เป็นสารเคมี หรือโครงสร้างทางเคมีอย่างเดียวกันนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “วัตถุออกฤทธิ์หมายความว่า วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ฉะนั้นวัตถุสิ่งใดหรือวัตถุออกฤทธิ์ใดจะเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ต้องเป็นสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเป็นข้อสำคัญ ซึ่งตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ก็ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่จะประกาศระบุชื่อจัดแบ่งประเภทส่วนประกอบ ความบริสุทธิ์และลักษณะอื่นของวัตถุออกฤทธิ์ได้ด้วย ดังนี้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) ให้ยกเลิกประกาศฉบับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตัวยาบางประเภท โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีนและแอมเฟตามีนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 51 (พ.ศ. 2531) เสียแล้ว ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศก็มิได้ระบุว่า ยาทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ แต่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) และบัญชีท้ายประกาศ ข้อกำหนดดังกล่าวซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงย่อมมีผลไปถึงกฎหมายฉบับอื่นที่ได้ระบุไว้เป็นการทั่ว ๆ ไปของคำว่า วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไปด้วยในตัว เว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ มีคำนิยามหรือได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ อาทิเช่น ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3 ทวิ)(3 ตรี)ซึ่งต้องเป็นไปตามนั้น โดยให้มีโทษปรับอย่างเดียวตามมาตรา 127 ทวิจะลงโทษเป็นอย่างอื่นมิได้ อีกทั้งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 8 ก็ได้บัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาระบุชื่อยา ส่วนประกอบ หรือลักษณะอื่นของยาเสพติดให้โทษไว้เช่นเดียวกัน ดังนั้นแม้ประกาศของรัฐมนตรีจะไม่มีผลเป็นการยกเลิกกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อกระบวนการฝ่ายออกกฎหมาย หรือฝ่ายนิติบัญญัติให้อำนาจแก่รัฐมนตรีไว้เช่นนั้น โดยเจตนารมณ์ย่อมเล็งเห็นได้ว่าต้องการให้เกิดผลเป็นประการใด โจทก์จะฎีกาว่า ยาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีนยังเป็นกลุ่มตัวยา คุณสมบัติ สารเคมี และโครงสร้างทางเคมีเป็นอย่างเดียวกัน หรือประกาศของรัฐมนตรีดังกล่าวไม่อาจยกเลิกกฎหมายได้ ย่อมเป็นการโต้เถียงที่ฝืนต่อความประสงค์ของฝ่ายนิติบัญญัติตามที่กล่าวมาแล้วโดยโจทก์เองก็มิได้กล่าวเลยว่า ประกาศที่อ้างถึงไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใดบ้าง ในอันที่จะไม่ให้มีผลบังคับใช้ ทั้งยังฝ่าฝืนต่อถ้อยคำในตัวบทกฎหมายและประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวซึ่งออกโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษแล้วด้วย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 วรรค 14 มาตรา 6 และมาตรา 8(1) และนับแต่นี้ไปผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดต่อยาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีนและแอมเฟตามีนย่อมมีวิธีการและขั้นตอนของกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รวมทั้งกฎหมายที่เข้ามาข้องเกี่ยวและกรณีมิใช่การตีความในเอกสารดังคำพิพากษาศาลฎีกาตามที่โจทก์อ้างถึงอนึ่ง ตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ ข. ระบุว่า จำเลยได้ขับรถยนต์ในขณะเสพวัตถุออกฤทธิ์กลุ่มแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ซึ่งได้ความไม่สอดคล้องกันเนื่องจากขณะนี้กลุ่มตัวยาดังกล่าว ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) ไม่ถือแล้วว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์โดยถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539)อีกประการหนึ่งเมทแอมเฟตามีนจะเป็นยาเสพติดให้โทษกลุ่มเดียวกันกับแอมเฟตามีนหรือไม่แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ยังเป็นข้อที่น่าสงสัยอยู่ ด้วยเหตุว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) และบัญชีท้ายประกาศได้ระบุชื่อยาทั้ง 2 ชนิด ไว้คนละที่ ห่างกันมากระหว่างลำดับที่ 5 กับที่ 20 โดยชื่อทางเคมีก็ไม่เหมือนกัน แต่ที่สำคัญกฎหมายไม่ถือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อไปอีกแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1มิได้ระบุบทกฎหมายประกอบคำวินิจฉัยยกฟ้องให้ชัดเจนสมควรให้แก้ไขข้อนี้เสียด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคหนึ่งนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1