แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าอ้างว่าสินค้าได้รับความเสียหายเพราะเหตุสุดวิสัยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจำเลยมีหน้าที่นำสืบว่าสินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหายเพราะเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา616 ในการขนส่งสินค้าทางทะเลข้อที่จำเลยนำสืบคงได้ความเพียงว่าในระหว่างการขนสินค้าได้เกิดพายุขึ้นและมีคลื่นใหญ่เท่านั้นจำเลยมิได้นำสืบว่ากรณีดังกล่าวมีความร้ายแรงผิดปกติจนไม่อาจคาดหมายได้หรือมิอาจป้องกันมิให้สินค้าเสียหายไว้ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าคลื่นลมและสภาวะอากาศดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา8 ผู้ร้องสอดใช้สิทธิร้องสอดเข้าแทนที่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(2)จึงมีฐานะเสมอด้วยโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความที่ผู้ร้องสอดเข้าแทนที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา58วรรคสองเมื่อจำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้ผู้ร้องสอด พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ.2534ไม่มีผลย้อนหลังเมื่อปรากฏว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่21กุมภาพันธ์พ.ศ.2535ซึ่งเป็นเวลาหลังจากเกิดเหตุคดีนี้จึงไม่มีผลบังคับแก่คดีนี้ฎีกาของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้ขนส่งตามความหมายในพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้สั่งซื้อสินค้าเครื่องจักรจากบริษัทมิตซุย จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาบริษัทมิตซุย จำกัดได้จัดส่งสินค้าดังกล่าวมาให้โจทก์โดยว่าจ้างบริษัทคานไซ สตืมซิปจำกัด ให้เป็นผู้ทำการขนส่งสินค้ารายนี้จากเมืองโยโกฮาม่าประเทศญี่ปุ่น มายังประเทศไทยทางทะเลจำเลยเป็นผู้ทำการขนส่งสินค้าร่วมอีกทอดหนึ่ง จำเลยตกลงเข้าเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายโดยได้รับบำเหน็จตอบแทนตามอัตราทางการค้า ต่อมาเมื่อวันที่16 มกราคม 2532 เรือบอร์เนียน ซาตู ได้เดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพและได้มีการสำรวจสินค้าที่ขนส่งโดยเรือดังกล่าวปรากฏว่าสินค้าเครื่องจักรที่โจทก์สั่งซื้อมาถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงในระหว่างขนส่งเป็นเหตุให้ตัวเครื่องจักรได้รับความเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,958,359.70 บาท ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างขนส่ง บริษัทคานไช สตีมซิป จำกัดในฐานะผู้รับขนส่งทอดแรกและจำเลยในฐานะผู้รับขนส่งในทอดหลังจึงมีความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 1,958,359.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เครื่องจักรที่โจทก์บรรยายฟ้องมิได้เสียหายและต้องเสียค่าซ่อมแซม จำเลยมิได้เป็นผู้ขนส่งร่วมกับบริษัทคานไซ สตีมซิป จำกัด และไม่มีส่วนรับรู้ในการขนส่งของโจทก์ จำเลยเป็นแต่เพียงตัวแทนของบริษัทคานไซ จำกัด และรับเงินค่าจ้างในการจัดการในฐานะตัวแทนเท่านั้น ตามธรรมเนียมการเดินเรือทั่ว ๆ ไป เรือบรรทุกสินค้าที่ถูกพายุซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่อาจป้องกันได้ ไม่ต้องรับผิดในเรื่องค่าเสียหาย และเรือบอร์เนี่ยน ชาตู ก็ได้ถูกพายุจริง ตามหนังสือรับรองของกัปตันเรือที่ปฏิเสธชดใช้ความเสียหายให้แก่บริษัทไว้เป็นหลักฐานในการเดินเรือตามธรรมเนียมเมื่อเรือถึงท่า ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณา บริษัทเถกิงประกันภัย จำกัด ได้ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด โจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยความเสียหายของสินค้า คือเครื่องจักร ในระหว่างการขนส่งทางทะเลจากเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น มายังประเทศไทยไว้กับผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดสัญญาว่าหากสินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหายหรือสูญหายในระหว่างการขนส่ง ผู้ร้องสอดจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามมูลค่าความเสียหายภายในวงเงินจำนวน 110,621,500 เยน คิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 22,283,318 บาทเครื่องจักรรายพิพาทได้รับความเสียหายและโจทก์ได้ส่งไปซ่อมแซมที่ประเทศญี่ปุ่นจริง ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2533 ผู้ร้องสอดจึงได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นค่าซ่อมแซมที่โจทก์ต้องเสียไปเป็นจำนวน 10,790,000 เยน ค่าดำเนินการขนส่งเป็นเงินจำนวน 43,893 บาท ค่าเบี้ยประกันภัยในการขนส่งเป็นเงินจำนวน4,777 บาท และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ อีกบางส่วน เช่นค่าออกของและค่าขนส่งในประเทศรวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ร้องสอดได้ชดใช้ให้แก่โจทก์ไปแล้วคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ1,979,758.10 บาท ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากโจทก์ในอันที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจำนวนเงินดังกล่าวจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับขนส่งโดยผู้ร้องสอดขอถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องของผู้ร้องสอด
จำเลยให้การเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นของผู้ร้องสอดว่าผู้ร้องสอดยื่นคำร้องเข้ามาโดยไม่มีสิทธิเพราะสิทธิของผู้ร้องสอดขาดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
ผู้ร้องสอด อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายจำนวน1,958,359.70 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (16 มกราคม 2533) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องสอด
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนส่งร่วม โดยจำเลยเป็นเพียงตัวแทนของบริษัทเรือทำหน้าที่ติดต่อกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ข้อนี้นายเอนกเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2532เรือบอร์เนี่ยน ซาตู ได้เดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพโดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้โทรศัพท์แจ้งมาและให้โจทก์นำใบตราส่งไปให้เพื่อรับใบปล่อยสินค้า โจทก์ได้ส่งใบตราส่งไปให้ แล้วจำเลยได้มอบใบปล่อยสินค้าให้โจทก์ เพื่อนำไปขอรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ร่วมตรวจสอบสินค้านายพวงกรรมการผู้จัดการจำเลยเบิกความเป็นพยานจำเลยตอบทนายโจทก์และทนายผู้ร้องสอดถามค้านว่า บริษัทจำเลยได้มอบหมายให้บริษัทชัยกิจ จำกัด เป็นผู้ทำการบรรทุกหรือขนถ่ายสินค้าให้เงินค่าขนถ่ายสินค้าดังกล่าวบริษัทคานไซ สตีมจำกัด ได้ส่งมาให้แก่บริษัทจำเลย และบริษัทจำเลยมอบให้แก่บริษัทชัยกิจจำกัดค่าธรรมเนียมในการติดต่อกับส่วนราชการต่าง ๆ บริษัทจำเลยเป็นผู้ชำระแทนโดยเงินดังกล่าวนั้นบริษัทคานไซ สตีม จำกัด ส่งมาให้ ในการเป็นตัวแทนนำเรือบอร์เนี่ยน ซาตู ของบริษัทคานไซ สตีม จำกัด เข้าเทียบท่าเรือนั้น จำเลยได้รับค่าจ้างจากบริษัทดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้ว่าจ้างให้บริษัทชัยกิจ จำกัด เป็นผู้ขนถ่ายสินค้ารายพิพาทจากเรือบอร์เนี่ยน ซาตู ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยผู้ดำเนินการให้โจทก์นำใบตราส่งไปให้จำเลยเพื่อรับใบปล่อยสินค้า และจำเลยได้มอบใบปล่อยสินค้าให้โจทก์เพื่อนำไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำเลยจึงเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการขนส่งทอดสุดท้าย เป็นผู้ขนส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 618 ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยฎีกาต่อไปว่าสินค้ารายพิพาทได้รับความเสียหายเพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด เห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องนำสืบว่าสินค้ารายพิพาทได้รับความเสียหายเพราะเหตุสุดวิสัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 616 ข้อนี้ นายสำรวลพยานจำเลยอีกปากหนึ่งเบิกความว่าพยานเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของกัปตันเรือ มีข้อความระบุว่าตามวันเวลาและสถานที่ที่ระบุข้างต้นได้มีแนวพายุโซนร้อนอย่างแรงพัดผ่าน และทำให้เกิดพายุขึ้นทันที กำลังลมกลายเป็นพายุใหญ่และมีลมกรรโชกจัดเป็นพัก ๆ ดังนั้น เรือจึงต้องทำงานหนักและตึงเครียดมาก และคลื่นทะเลสาดกระทบดาดฟ้าเรืออย่างรุนแรงที่ฝาครอบช่องระวางตลอดเวลาเห็นว่า ข้อที่จำเลยนำสืบคงได้ความเพียงว่าระหว่างการขนสินค้าได้เกิดพายุขึ้นและคลื่นใหญ่เท่านั้น จำเลยมิได้นำสืบว่ากรณีดังกล่าวมีความร้ายแรงผิดปกติจนไม่อาจคาดหมายได้หรือไม่อาจป้องกันมิให้สินค้าเสียหายได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่า คลื่นลมและสภาวะอากาศดังกล่าวมีความร้ายแรงถึงขนาดที่นายเรือไม่อาจจะป้องกันมิให้เกิดผลพิบัติแก่สินค้าได้ แม้นายเรือผู้ต้องประสบเหตุจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้นจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า หนี้ของผู้ร้องสอดขาดอายุความแล้วนั้นปรากฏว่าจำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความไว้ในคำให้การ และศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความไว้ ส่วนที่จำเลยยื่นคำให้การเพิ่มเติมหลังจากที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าแทนที่โจทก์แล้วว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความขึ้นต่อสู้กับผู้ร้องสอดได้เพราะคดีนี้ผู้ร้องสอดใช้สิทธิร้องสอดเข้าแทนที่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) จึงมีฐานะเสมอด้วยโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความที่ผู้ร้องสอดเข้าแทนที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 58 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่ได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิจะยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้ผู้ร้องสอด ฎีกาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจำเลยไม่มีสิทธิฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยไม่ใช่ผู้ขนส่งตามความหมายในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 วรรคสอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้ร้องสอดนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากเกิดเหตุคดีนี้แล้ว จึงไม่มีผลย้อนหลังไปบังคับแก่คดีนี้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่คดีนี้ผู้ร้องสอดในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เมื่อวันที่14 กันยายน 2533 ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องสอดนับแต่วันฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องสอดนับแต่วันที่ 144 กันยายน 2533 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์