คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6404/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) ลูกหนี้จะต้องมีเจตนาใช้หนี้นั้นต่อเจ้าหนี้โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ แต่ตามรายงานประจำวันซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำไว้ที่สถานีตำรวจระบุว่าได้ชำระค่าจ้างงวดที่ 1 ให้แล้ว ยังคงค้างงวดที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ได้ตกลงกับจำเลยที่ 2 ว่าการจ่ายเงินค่าจ้างแต่ละงวด จำเลยทั้งสองจะต้องชำระคนละครึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ชำระงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ให้โจทก์แล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ชำระทั้งสองงวด การที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินงวดที่ 2 อีก จำเลยที่ 1 ขอปฏิเสธ จึงเป็นการยอมรับเพียงว่าจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธการชำระเงินค่าจ้างงวดที่ 2 เอกสารดังกล่าวจึงไม่เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่ทำให้อายุความค่าจ้างงวดที่ 2 สะดุดหยุดลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์กึ่งที่พักอาศัย 2 ชั้นครึ่ง จำนวน 4 ห้อง ในราคา1,600,000 บาท กำหนดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันค่าจ้างแบ่งชำระเป็น 4 งวด งวดที่ 1 ถึงที่ 3 งวดละ 320,000 บาท และงวดที่ 4 จำนวน 640,000 บาท โจทก์ได้ส่งมอบงานงวดที่ 1 และที่ 2 ให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าจ้างงวดที่ 2 ให้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำบันทึกยอมรับว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์จำนวน 320,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 320,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงให้จำเลยทั้งสองชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์คนละครึ่งตามงวดงาน จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าจ้างงวดที่ 1 และที่ 2 ให้แก่โจทก์งวดละ160,000 บาท รวมเป็นเงิน 320,000 บาทแล้ว ส่วนที่เหลือโจทก์ชอบที่จะไปเรียกร้องเอากับจำเลยที่ 2 และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้โอนอาคารพาณิชย์จำนวน 2 ห้องใส่ชื่อโจทก์ เพื่อให้โจทก์นำไปขาย โจทก์นำเงินที่ได้จากการขายอาคารพาณิชย์ดังกล่าวหักชำระค่าจ้างงวดที่ 2 แล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 320,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 ธันวาคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2537 จำเลยทั้งสองได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์กึ่งที่พักอาศัย 2 ชั้นครึ่ง จำนวน 4 ห้อง ลงในที่ดินโฉนดเลขที่ 843 ตำบลม่วงไข่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ในราคา 1,600,000 บาท กำหนดส่งมอบงานให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันทำสัญญา ตกลงแบ่งชำระค่าจ้างเป็น 4 งวดงวดที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระงวดละ 320,000 บาท งวดที่ 4 ชำระจำนวน640,000 บาท เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว หลังจากทำสัญญาโจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 1 และจำเลยทั้งสองได้ชำระค่าจ้างจำนวน 320,000 บาท ให้โจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองตรวจรับเรียบร้อยแล้วจำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าจ้างงวดที่ 2 ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2537 แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าจ้างให้โจทก์ วันที่ 22 ธันวาคม 2538 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ให้ถ้อยคำไว้ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอพังโคน รายละเอียดตามรายงานประจำวันธุรการเอกสารหมาย จ.2 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า รายงานประจำวันธุรการดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) ลูกหนี้จะต้องมีเจตนาใช้หนี้นั้นต่อเจ้าหนี้โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ แต่ตามรายงานประจำวันธุรการเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความว่า โจทก์ได้อ้างว่าจำเลยทั้งสองทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ปลูกสร้างอาคารโดยตกลงว่า จะชำระค่าจ้างก่อสร้างให้โจทก์รวม 4 งวด ซึ่งได้ชำระงวดที่ 1 ให้แล้ว ยังคงค้างค่าจ้างงวดที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ตกลงกับจำเลยที่ 2 ว่าการจ่ายเงินค่าจ้างแต่ละงวด จำเลยทั้งสองจะต้องชำระคนละครึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ชำระงวดที่ 1 และงวดที่ 2 รวมเป็นเงิน 320,000 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ชำระทั้งสองงวด การที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินงวดที่ 2 อีกจำเลยที่ 1 ขอปฏิเสธ จึงเป็นการยอมรับเพียงว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์กึ่งที่พักอาศัยจริง แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธการชำระเงินค่าจ้างงวดที่ 2 ให้แก่โจทก์ เอกสารดังกล่าวจึงไม่เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ให้ไว้แก่โจทก์ และไม่ทำให้อายุความสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างก่อสร้างงวดที่ 2 ซึ่งถึงกำหนดชำระวันที่ 13กุมภาพันธ์ 2537 สะดุดหยุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดค่าจ้างก่อสร้างเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2539 จึงเกินกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 ย่อมขาดอายุความ จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share