แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่บริษัท ส. ลูกหนี้ชั้นต้นถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และธนาคาร น. เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(3) อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่บริษัท ส. ลูกหนี้ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2543 จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์
จึงขาดอายุความ แม้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 บริษัท ม. ผู้ค้ำประกันร่วมได้ชำระหนี้บางส่วนทำให้อายุความดังกล่าวสะดุดหยุดลง แต่ ป.พ.พ. มาตรา 692 หาได้บัญญัติด้วยว่า หากอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายหนึ่งจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายอื่นด้วยไม่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ แต่ในระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 ซึ่งกำหนดว่า อายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนั้นอายุความ
จึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่บริษัท ม. หามีผลถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 139,773,956.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 28 ต่อปี จากต้นเงิน 48,880,675.44 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 139,773,956.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 48,880,675.44 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 พฤษภาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกหนังสือค้ำประกันเงินกู้ระยะยาวให้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 70,000,000 บาท ตามที่บริษัทสคณัฐชา เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ร้องขอต่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีข้อตกลงว่าหากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้จากการค้ำประกันดังกล่าว บริษัทสคณัฐชา เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด จะชำระหนี้ให้แก่ธนาคารนครหลวงไทยจำกัด (มหาชน) จนครบถ้วนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุด โดยมีบริษัทนิวแมเจซติค โฮเต็ล แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด นายสุรินทร์ และจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันในวงเงิน 70,000,000 บาท โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยนำใบหุ้นของบริษัทสคณัฐชา เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด จำนวน 10,000 หุ้น จำนำไว้ต่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ต่อมาบริษัทสคณัฐชา เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ผิดสัญญาต่อธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ชำระหนี้ให้ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ไป ภายหลังบริษัทนิวแมเจซติค โฮเต็ล แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด นำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 13 มิถุนายน 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้บริษัทสคณัฐชา เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด และนายสุรินทร์เป็นบุคคลล้มละลาย ต่อมาธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) โอนหนี้สินด้อยคุณภาพรายนี้ให้แก่บริษัทสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด และบริษัทนิวแมเจซติคโฮเต็ล แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด ทำบันทึกข้อตกลงให้ไว้แก่บริษัทสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ภายหลังบริษัทสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด โอนหนี้สินรายนี้ให้แก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคสรุปได้ว่า การที่บริษัทนิวแมเจซติค โฮเต็ล แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด ชำระหนี้ไปนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 295 วรรคหนึ่ง อายุความสะดุดหยุดลงเฉพาะบริษัทดังกล่าว ไม่มีผลไปถึงจำเลยด้วย และการนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อนับถึงวันฟ้อง คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้เรื่องอายุความว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โดยโจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิมาต้องนับอายุความนับแต่วันที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องกล่าวคือ ต้องเรียกร้องภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2536 ดังนั้น ฟ้องโจทก์จะขาดอายุความสำหรับจำเลยหรือไม่ เป็นหน้าที่ศาลที่ปรับบทกฎหมายว่าต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายใด และแม้อายุความจะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 แต่การที่บริษัทสคณัฐชา เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นของธนาคารนครหลวงไทยจำกัด (มหาชน) ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย โดยธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับชำระหนี้ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (3) และการที่อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่บริษัทสคณัฐชา เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ย่อมเป็นโทษไปถึงจำเลยผู้ค้ำประกันด้วยตามมาตรา 692 เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ซึ่งการเริ่มนับอายุความใหม่นั้น ต้องพิจารณาว่าเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเวลาใด ปรากฏตามรายงานสรุปความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทสคณัฐชา เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ที่ 1 กับพวก ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.31/2542 ของศาลล้มละลายกลาง ว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดรายบริษัทสคณัฐชา เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ที่ 1 นายสุรินทร์ ที่ 2 และเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 8 ราย ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าหนี้รายที่ 7 ยื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่ไม่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวว่ามีการยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อใด อันจะเป็นฐานคำนวณถึงวันนับอายุความใหม่ แต่เมื่อพิจารณาจากรายงานตรวจสอบว่าบุคคลหรือนิติบุคคลเคยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือไม่ ของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม บริษัทสคณัฐชา เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2542 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 116 ตอนที่ 911 หน้า 110 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2542 ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 ระยะเวลาสุดท้ายที่อาจเริ่มนับอายุความได้คือ วันที่ 16 มกราคม 2543 มิใช่วันที่ 16 กรกฎาคม 2536 ดังที่จำเลยฎีกา และเมื่อเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2543 จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ แม้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทแมเจซติค โฮเต็ล แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ค้ำประกันหนี้ร่วมของบริษัท สคณัฐชา เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ได้ชำระหนี้บางส่วน โดยชำระครั้งสุดท้ายเป็นเงิน 53,552,749.63 บาท ทำให้อายุความในช่วงเวลาดังกล่าวสะดุดหยุดลง แต่จะมีผลไปถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ร่วมอีกรายหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 692 บัญญัติว่า อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย แต่หาได้บัญญัติด้วยว่าหากอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายหนึ่งจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายอื่นด้วยไม่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ แต่ในระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดต่อกันไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตรา 295 ซึ่งกำหนดว่าอายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนั้นอายุความจึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่บริษัทแมเจซติค โฮเต็ล แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด เท่านั้น หามีผลถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกับบริษัท แมเจซติค โฮเต็ล แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด ไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ