แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การครอบครองที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) ของโจทก์เป็นการครอบครองโดยได้รับอนุญาตจากนิคมที่โจทก์เป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งโจทก์จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรวมทั้งระเบียบของนิคม หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามอาจถูกอธิบดีสั่งให้ออกจากนิคมได้ตามมาตรา 28 แสดงว่า นิคมได้รับมอบอำนาจตามกฎหมายจากรัฐให้จัดที่ดินให้แก่สมาชิกนิคม เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ทางนิคมได้จัดสรรให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ผู้ร้องทั้งสองมิใช่สมาชิกผู้ได้รับการจัดให้ที่ดินพิพาทไม่อาจยกเอาเรื่องสิทธิครอบครองโดยอ้างว่าผู้ร้องทั้งสองเข้าครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมาก่อนโดยโจทก์เป็นเพียงผู้ถือครองที่ดินพิพาทแทนผู้ร้องทั้งสอง และไม่เคยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาท ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิมาโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเงื่อนไขและวิธีการจัดสรรที่ดินของนิคม โดยผ่านกระบวนการพิจารณาต่าง ๆ จนกระทั่งได้รับสิทธิ ทั้งยังจะต้องถือครองและทำประโยชน์ตามที่กฎหมายระบุไว้อีกด้วย และฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองยินยอมให้โจทก์เป็นผู้ถือสิทธิในหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) แทนผู้ร้องทั้งสอง โดยโจทก์ไม่เคยเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้าง จึงฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งรวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย เรียกผู้ร้องในสำนวนแรกว่า ผู้ร้องที่ 1 และเรียกผู้ร้องในสำนวนหลังว่า ผู้ร้องที่ 2
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) เลขที่ 3731 และ 3732 พร้อมใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยินยอมส่งมอบการครอบครองที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์ หากจำเลยพร้อมบริวารไม่ออกไปจากที่ดินตามฟ้องยินยอมให้บังคับคดี ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์ขอให้บังคับคดีเพื่อขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกไปและห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินตามฟ้องอีก ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษา
ผู้ร้องทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินบางส่วนในที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) เลขที่ 3731 และ 3732 เนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ 2 งาน 27 ตารางวา เป็นของผู้ร้องที่ 1 และเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา เป็นของผู้ร้องที่ 2
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองและฟ้องแย้งขอให้ขับไล่ผู้ร้องทั้งสองพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและบังคับให้ผู้ร้องทั้งสองชำระเงิน 297,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ผู้ร้องทั้งสองชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าผู้ร้องทั้งสองจะออกไปจากที่ดินพิพาท
ผู้ร้องทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ยกฟ้องแย้งโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนคำร้องของผู้ร้องทั้งสองและฟ้องแย้งของโจทก์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลที่เสียเกิน 200 บาท มาในแต่ละสำนวนให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง และคืนค่าขึ้นศาลชั้นต้นในส่วนของฟ้องแย้งให้โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินเป็นที่ดินอยู่ในเขตที่นิคมสหกรณ์คลองท่อมจังหวัดกระบี่จัดให้แก่ราษฎรตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์คลองท่อมได้รับการจัดให้ที่ดินดังกล่าว และต่อมาอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) เลขที่ 3731 และ 3732 ให้แก่โจทก์ ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่เศษ และเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่เศษ ตามลำดับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองมีว่า โจทก์หรือผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โดยผู้ร้องทั้งสองฎีกาว่า ผู้ร้องทั้งสองยินยอมให้โจทก์เป็นผู้ถือสิทธิในหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) แทนผู้ร้องทั้งสอง โดยโจทก์ไม่เคยเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า การได้มาซึ่งที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 คือ ที่ดินจัดสรรในเขตนิคมสร้างตนเองหรือนิคมสหกรณ์ บุคคลผู้ได้มาจะต้องเป็นสมาชิกตามมาตรา 22 หรือ 35 แล้วแต่กรณี และก่อนจะได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์มา จะต้องผ่านขั้นตอนตามที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ และแม้ได้มาแล้วยังต้องอยู่ในบังคับห้ามโอนแก่บุคคลอื่นซึ่งไม่อยู่ในข้อยกเว้น ภายในกำหนดระยะเวลาดังบัญญัติไว้ในมาตรา 12 นอกจากนี้ยังมีประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 และมาตรา 58 ทวิ บัญญัติห้ามโอนที่ดินที่ได้มาในกรณีพิเศษไว้อย่างชัดเจน เช่นนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไปในแนวทางเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่รัฐจัดสรรให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกเข้าทำประโยชน์ โดยสมาชิกนิคมจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว อันได้แก่ สมาชิกนิคมที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินจะใช้ที่ดินเพื่อการอื่นไม่ได้ จะต้องใช้เพื่อการเกษตรตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดไว้เท่านั้น ถ้าจะทำการอื่นต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีตามมาตรา 9 เมื่อสมาชิกนิคมทำประโยชน์ในที่ดินแล้วและเป็นสมาชิกนิคมมาเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี อธิบดีจะออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคม ผู้ที่ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์แล้วจะได้ขอใบออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ตามมาตรา 11 เป็นต้น การครอบครองที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) เลขที่ 3731 และ 3732 ของโจทก์เป็นการครอบครองโดยได้รับอนุญาตจากนิคมที่โจทก์เป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งโจทก์จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรวมทั้งระเบียบของนิคมดังกล่าวข้างต้น หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามอาจถูกอธิบดีสั่งให้ออกจากนิคมได้ตามมาตรา 28 แสดงว่านิคมได้รับมอบอำนาจตามกฎหมายจากรัฐให้จัดที่ดินให้แก่สมาชิกนิคม เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ทางนิคมได้จัดสรรให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ผู้ร้องทั้งสองมิใช่สมาชิกผู้ได้รับการจัดให้ที่ดินพิพาทไม่อาจยกเอาเรื่องสิทธิครอบครองโดยอ้างว่าผู้ร้องทั้งสองเข้าครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมาก่อนโดยโจทก์เป็นเพียงผู้ถือครองที่ดินพิพาทแทนผู้ร้องทั้งสอง และไม่เคยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาท ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิมาโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเงื่อนไขและวิธีการจัดสรรที่ดินของนิคม ข้ออ้างตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองไม่มีเหตุผลหักล้างข้อเท็จจริงที่โจทก์ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) โดยผ่านกระบวนการพิจารณาต่าง ๆ ข้างต้น จนกระทั่งได้รับสิทธิดังกล่าว ทั้งยังจะต้องถือครองและทำประโยชน์ตามที่กฎหมายระบุไว้อีกด้วย ผู้ร้องทั้งสองเพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ ว่าโจทก์เป็นผู้ถือสิทธิในหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) แทนผู้ร้องทั้งสองโดยไม่ปรากฏเหตุผลใดว่าผู้ร้องทั้งสองต้องกระทำเช่นนั้น พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งสอง พยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองยินยอมให้โจทก์เป็นผู้ถือสิทธิในหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) แทนผู้ร้องทั้งสอง โดยโจทก์ไม่เคยเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างในฎีกา ข้อเท็จจริงจึงฟังว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย สำหรับฎีกาอื่นของผู้ร้องทั้งสองไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ