คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 640/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่าเสาไฟฟ้าเป็นของโจทก์นั้น เป็นการฟังข้อเท็จจริงมาจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยมิได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยให้ตามอุทธรณ์ของจำเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นที่จำเลยให้การและอุทธรณ์ต่อสู้ไว้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเสาไฟฟ้าไม่ใช่ของโจทก์ เป็นการพิพากษาคดีโดยไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความตาม มาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประเด็นดังกล่าวแม้ศาลอุทธรณ์จะไม่วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาก็วินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวนโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีกได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุก 10 ล้อหมายเลขทะเบียน 80-6080 ราชบุรีบรรทุกทรายไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เพื่อส่งให้แก่ลูกค้า หลังจากเททรายแล้ว จำเลยที่ 1 ขับรถออกไปโดยมิได้ยกกระบะท้ายรถลง เป็นเหตุให้กระบะเกี่ยวสายเคเบิ้ล โทรศัพท์ซึ่งพาดบนเสาไฟฟ้าของโจทก์ ทำให้สายเคเบิ้ล ดึงรั้ง เสาไฟฟ้าคอนกรีตหัก 2 ต้น และอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดเสียหายเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 โจทก์ต้องเสียหายรวมเป็นเงิน 20,561.74 บาท จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุก 10 ล้อคันดังกล่าวต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองด้วย ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,561.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยก่อนฟ้องจำนวน 1,537.90 บาทรวมเป็นเงิน 22,099.64 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 20,561.74 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์เสาไฟฟ้าที่เสียหาย หากแต่เป็นเสาไฟฟ้าของบุคคลอื่น จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มิได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2มิใช่นายจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดด้วยจำเลยที่ 3 ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 2เหตุเกิดเพราะเหตุสุดวิสัยและโจทก์เสียหายอย่างมากไม่เกิน7,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เสาไฟฟ้าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย ส่วนจำเลยที่ 3เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในนามจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกัน พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระเงินจำนวน 20,561.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 17 เมษายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 1,537.90 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ได้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์เสาไฟฟ้าคอนกรีตที่ได้รับความเสียหายจากการละเมิดของจำเลยที่ 1 แต่ศาลอุทธรณ์มิได้ยกปัญหาดังกล่าววินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่าเสาไฟฟ้าเป็นของโจทก์นั้น เป็นการฟังข้อเท็จจริงมาจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยมิได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยให้ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นที่จำเลยที่ 3 ให้การและอุทธรณ์ต่อสู้ไว้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเสาไฟฟ้าไม่ใช่ของโจทก์ จึงเป็นการพิพากษาคดีโดยไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประเด็นดังกล่าวนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะไม่วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาก็เห็นสมควรวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวนโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีก แล้วศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าเสาไฟฟ้าเป็นของโจทก์จริง
พิพากษายืน.

Share