แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่าเสาไฟฟ้าเป็นของโจทก์นั้นเป็นการฟังข้อเท็จจริงมาจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยมิได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยให้ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นที่จำเลยที่ 3 ให้การและอุทธรณ์ต่อสู้ไว้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเสาไฟฟ้าไม่ใช่ของโจทก์จึงเป็นการพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 142 แห่ง ป.วิ.พ. ประเด็นดังกล่าวนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะไม่วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ (ดั๊ม) คันหมายเลขทะเบียน 80-6080ราชบุรี อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักร ซึ่งได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกดังกล่าว และได้ประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ในลักษณะประกันภัยค้ำจุนต่อมาในระหว่างอายุสัญญา จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ดังกล่าวบรรทุกทรายเพื่อนำไปส่งให้แก่ลูกค้าที่บริเวณก่อสร้างปากซอยโตจันทร์ 1ถนนนนทบุรี 1 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีอันเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หลังจากที่จำเลยที่ 1เททรายแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ขับรถออกไปโดยมิได้ยกเอากระบะท้ายรถลงเป็นเหตุให้กระบะเกี่ยวสายเคเบิ้ลโทรศัพท์ซึ่งพาดบนเสาไฟฟ้าของโจทก์ ทำให้สายเคเบิ้ลดึงรั้งเสาไฟฟ้าคอนกรีตขนาด 12 เมตร หัก 1 ต้นเสาไฟฟ้าคอนกรีตขนาด 8.5 เมตร หัก 2 ต้น สตับคอนกรีตขนาด 4 เมตรชำรุด 2 ตัน และอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดเสียหาย การกระทำของจำเลยเป็นความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง โจทก์ต้องถอนเสาเก่าและปักเสาใหม่ ทั้งเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด รวมเป็นเงิน20,561.74 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระเงินจำนวน 20,561.74 บาท พร้อมดอกเบี้ย แก่โจทก์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า นายอำนวย อุดมศิลป์ ไม่ได้เป็นผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวงไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์เสาไฟฟ้าที่เสียหาย หากแต่เป็นเสาไฟฟ้าของบุคคลอื่นจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มิได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุ หากแต่เป็นของบุคคลอื่น และจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด ฉะนั้นจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดด้วย จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 2 เหตุที่เกิดขึ้นมิใช่เป็นความประมาทของจำเลยที่ 1หากแต่เป็นเหตุสุดวิสัย เพราะกระบะท้ายรถยกขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุสุดที่จำเลยที่ 1 จะป้องกันได้ โจทก์เสียหายเพียงเสาไฟฟ้าขนาด12 เมตร 1 ต้น และขนาด 8.5 เมตร 2 ต้น อุปกรณ์บนเสาไฟฟ้าไม่ได้รับความเสียหาย และค่าปฏิบัติงานโดยไม่ต้องดับไฟฟ้า และค่าแรงงานนั้น พนักงานโจทก์มีเงินเดือนจากโจทก์อยู่แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ค่าเสียหายของโจทก์อย่างมากไม่เกิน 7,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระเงินจำนวน20,561.74 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 3 ได้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์เสาไฟฟ้าคอนกรีตที่ได้รับความเสียหายจากการละเมิดของจำเลยที่ 1 แต่ศาลอุทธรณ์มิได้ยกปัญหาดังกล่าววินิจฉัยให้จำเลยที่ 3เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่าเสาไฟฟ้าเป็นของโจทก์นั้น เป็นการฟังข้อเท็จจริงมาจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยมิได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยให้ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3ทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นที่จำเลยที่ 3 ให้การและอุทธรณ์ต่อสู้ไว้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเสาไฟฟ้าไม่ใช่ของโจทก์ จึงเป็นการพิพากษาคดีโดยไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประเด็นดังกล่าวนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะไม่วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาก็เห็นสมควรวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวน โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีก โดยศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มีนายสุรนารถ นุสสติ เป็นพยานเบิกความยืนยันว่าเสาไฟฟ้าเป็นของโจทก์ แต่จำเลยที่ 3 ไม่สืบพยานหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามพยานโจทก์ว่าเสาไฟฟ้าเป็นของโจทก์จริง”
พิพากษายืน.