คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1810/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่าเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)หมายความตลอดถึงวันเดือนปีด้วย แต่คดีใด จะต้องระบุเวลากลางวันกลางคืนหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไปแล้วแต่กรณีข้อสำคัญฟ้องให้กล่าวพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
โจทก์ฟ้องว่า ได้ซื้อรถยนต์จากผู้มีชื่อแต่รถยนต์ชำรุด จึงได้ฝากจำเลยไว้ รุ่งขึ้นไปขอคืนจากจำเลย ปรากฏว่าเครื่องยนต์ที่ฝากไว้บางแห่งหายไป ทราบว่าจำเลยยักยอกโดยมิได้ระบุในฟ้องว่าจำเลยทำผิดเวลาใด ถือว่าจำเลยทำผิดในวัน เวลาที่ฝากกับวัน,เวลาที่ปรากฏของหาย ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2491 โจทก์กับนางล้วนเชื้อวงษ์ภรรยาได้ซื้อรถยนต์บรรทุกคนโดยสาร 1 คันไว้จากนางวงษ์แต่รถยนต์ชำรุดจึงได้มอบฝากรถยนต์พร้อมทั้งเครื่องอุปกรณ์ไว้กับจำเลยรุ่งขึ้นวันที่ 12 เดือนเดียวกัน โจทก์ไปขอรับคืนจากจำเลยปรากฏว่าเครื่องอุปกรณ์หลายอย่างที่มอบฝากไว้ได้หายไป ทราบว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตยักยอกเป็นประโยชน์ตนเสีย ในระหว่างวันที่11, 12 พฤศจิกายน 2491 ขอให้ลงโทษตามมาตรา 314

จำเลยให้การปฏิเสธ และว่าความจริงนางวงษ์ได้กู้เงินจำเลยแล้วมอบรถยนต์ให้จำเลยยึดไว้เป็นประกัน

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยักยอกทรัพย์ไปไม่ได้กล่าวว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนเป็นฟ้องเคลือบคลุมพิพากษายกฟ้อง โดยสั่งงดสืบพยาน

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มาตรา 158(5) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ได้บังคับว่าฟ้องต้องระบุว่าเกิดเหตุเวลากลางวันหรือกลางคืน การกระทำบางอย่างอาจต่อเนื่องกันไปหลาย ๆ วัน ฟ้องคดีนี้เป็นที่เข้าใจได้ในตัวว่า หมายถึงในระหว่างวันที่ 11 ถึงวันที่ 12 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมพิพากษากลับให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้พิจารณาพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า เวลา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) หมายความตลอดถึง วันเดือนปีด้วยดังฟ้องฎีกาของจำเลยแต่เห็นว่าคดีใดจะต้องระบุเวลากลางวันกลางคืนหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไปแล้วแต่กรณี มีความสำคัญอยู่ที่ว่า กล่าวพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องของโจทก์คดีนี้ชัดเจนพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาในเรื่องเวลาได้เป็นอย่างดีแล้ว กล่าวคือโจทก์กับภริยาซื้อรถยนต์เมื่อวันที่ 11 และพอเข้าใจได้ดีว่ารถยนต์ที่ซื้อชำรุดจึงได้มอบฝากไว้แก่จำเลยในวันที่ซื้อนั้นรุ่งขึ้นวันที่ 12 เดือนเดียวกันจึงไปขอคืนจากจำเลย ปรากฏว่าเครื่องยนต์ที่ฝากไว้บางอย่างหายไป จึงได้ทราบว่า จำเลยยักยอก โดยถือว่าจำเลยได้กระทำการยักยอกในระหว่างวันเวลาที่ฝากกับวันเวลาที่ปรากฏของหาย คือระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2491 ชั้นให้การต่อสู้คดีจำเลยก็มิได้คัดค้านเรื่องเวลาพิพากษายืน

Share