คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4123/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อนี้ให้
พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยในส่วนการลักธนาณัติของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไป แล้วปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในช่องผู้มอบฉันทะให้รับเงินแทน และนำธนาณัติไปใช้ยื่นต่อพนักงานของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขเพื่อให้จ่ายเงินตามธนาณัติ เป็นการที่จำเลยได้กระทำการทั้งหลายอย่างต่อเนื่องกันโดยจำเลยมีเจตนาอย่างเดียวคือให้พนักงานของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขหลงเชื่อว่าเอกสารต่าง ๆที่จำเลยได้ทำปลอมขึ้นเป็นเอกสารที่แท้จริงเพื่อจะได้จ่ายเงินตามจำนวนในธนาณัติให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดฐานลักทรัพย์ธนาณัติของโจทก์ร่วมกับฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมโดยจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารเองต้องลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียวและเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งต้องลงโทษฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(11) วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ เป็นการรับสารภาพว่าได้กระทำการต่าง ๆ ดังที่โจทก์ฟ้อง แต่จำเลยจะมีความผิดตาม บทกฎหมายใดหรือไม่ เป็นอำนาจของศาลจะพิจารณาวินิจฉัย
จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเกี่ยวกับธนาณัติของโจทก์ร่วมรวม 3 ฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับจำเลยได้กระทำการต่าง ๆ ต่างวันเวลากัน และเป็นความผิดสำเร็จ แต่ละฉบับต่างวันเวลากัน การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็น ความผิด 3 กรรมต่างกัน ซึ่งต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ไปตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวัน จำเลยลักธนาณัติค่างวดรถจักรยานยนต์ของนางสุมาลี แซ่เตียว ผู้เสียหายซึ่งลูกค้าส่งมาชำระหนี้มูลค่า 2,240 บาท ที่เป็นของนายจ้างของจำเลยไปโดยทุจริต และในวันเวลาเดียวกันจำเลยได้ปลอมเอกสารโดยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายลงในช่องผู้มอบฉันทะให้รับเงินแทนในธนาณัติที่จำเลยลักไปดังกล่าวแล้วจำเลยได้ใช้ธนาณัติที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายดังกล่าวยื่นต่อพนักงานของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข สาขาลำปลายมาศ เพื่อให้จ่ายเงินตามธนาณัตินั้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวันจำเลยลักธนาณัติค่างวดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งลูกค้าส่งมาชำระหนี้มูลค่า 1,800 บาทที่เป็นของนายจ้างของจำเลยไปโดยทุจริต และในวันเวลาเดียวกันจำเลยได้ปลอมเอกสารโดยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายลงในช่องผู้มอบฉันทะให้รับเงินแทนในธนาณัติที่จำเลยลักไปดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ใช้ธนาณัติที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายดังกล่าวยื่นต่อพนักงานของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข สาขาลำปลายมาศ เพื่อให้จ่ายเงินตามธนาณัตินั้นและเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวันจำเลยลักธนาณัติค่างวดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งลูกค้าส่งมาชำระหนี้มูลค่า 3,600 บาทที่เป็นของนายจ้างของจำเลยไปโดยทุจริต และในวันเดียวกันจำเลยได้ปลอมเอกสารโดยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายลงในช่องผู้มอบฉันทะให้รับเงินแทนในธนาณัติที่จำเลยลักไปดังกล่าว แล้วจำเลยได้ใช้ธนาณัติที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายดังกล่าวยื่นต่อพนักงานของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสาขาลำปลายมาศ เพื่อให้จ่ายเงินตามธนาณัตินั้น ทั้งนี้การที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายลงในช่องผู้มอบฉันทะให้รับเงินแทนในธนาณัติทั้งหมดดังกล่าวเพื่อให้พนักงานของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขดังกล่าวหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และการที่จำเลยใช้ธนาณัติที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายดังกล่าวในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข สาขาลำปลายมาศและประชาชนขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268, 335, 91และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาธนาณัติรวม 3 ฉบับ มูลค่า 7,640 บาทที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย

ระหว่างพิจารณา นางสุมาลี แซ่เตียว ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 268 วรรคแรก, 335(11) วรรคแรก ฐานลักทรัพย์ 3 กระทงให้จำคุกกระทงละ 1 ปี ส่วนฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอม 3 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 6 เดือน การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุก 4 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาข้อแรกสรุปใจความได้ว่า จำเลยไม่มีเจตนาจะลักธนาณัติของโจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวัน จำเลยลักธนาณัติค่างวดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งลูกค้าส่งมาชำระหนี้ มูลค่า 2,240 บาทที่เป็นของนายจ้างของจำเลยไปโดยทุจริต และในวันเวลาเดียวกันจำเลยได้ปลอมเอกสารโดยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายในช่องผู้มอบฉันทะให้รับเงินแทนในธนาณัติที่จำเลยลักไปดังกล่าว แล้วจำเลยได้ใช้ธนาณัติที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายดังกล่าวยื่นต่อพนักงานของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข สาขาลำปลายมาศ เพื่อให้จ่ายเงินตามธนาณัตินั้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวัน จำเลยลักธนาณัติค่างวดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งลูกค้าส่งมาชำระหนี้ มูลค่า 1,800 บาทที่เป็นของนายจ้างของจำเลยไปโดยทุจริตและในวันเวลาเดียวกันจำเลยได้ปลอมเอกสารโดยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายลงในช่องผู้มอบฉันทะให้รับเงินแทนในธนาณัติที่จำเลยลักไปดังกล่าว แล้วจำเลยได้ใช้ธนาณัติที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายดังกล่าวยื่นต่อพนักงานของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข สาขาลำปลายมาศ เพื่อให้จ่ายเงินตามธนาณัตินั้นและเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวัน จำเลยลักธนาณัติค่างวดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งลูกค้าส่งมาชำระหนี้ มูลค่า 3,600 บาทที่เป็นของนายจ้างของจำเลยไปโดยทุจริต และในวันเวลาเดียวกันจำเลยได้ปลอมเอกสารโดยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายลงในช่องผู้มอบฉันทะให้รับเงินแทนในธนาณัติที่จำเลยลักไปดังกล่าว แล้วจำเลยได้ใช้ธนาณัติที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายดังกล่าวยื่นต่อพนักงานของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข สาขาลำปลายมาศ เพื่อให้จ่ายเงินตามธนาณัตินั้นทั้งนี้การที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายลงในช่องผู้มอบฉันทะให้รับเงินแทนในธนาณัติทั้งหมดดังกล่าวเพื่อให้พนักงานของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขดังกล่าวหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และการที่จำเลยใช้ธนาณัติที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายดังกล่าวในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข สาขาลำปลายมาศและประชาชน ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์ จำเลยจะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องตามที่จำเลยอ้างมาในฎีกาดังกล่าวข้างต้นนั้นหาได้ไม่เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้วทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 อีกด้วย ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังนี้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อนี้ให้

ที่จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้นในปัญหานี้เห็นว่า แม้ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ธนาณัติของโจทก์ร่วมและฐานปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมลงในช่องผู้มอบฉันทะให้รับเงินจากที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขแทนโจทก์ร่วมจะบรรยายให้เห็นถึงการกระทำของจำเลยแยกเป็นข้อ ๆ ก็ตามแต่จากพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยในส่วนการลักธนาณัติของโจทก์ร่วมไปแล้วปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในช่องผู้มอบฉันทะให้รับเงินแทนและนำธนาณัติไปใช้ยื่นต่อพนักงานของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขเพื่อให้จ่ายเงินตามธนาณัติ ก็เป็นการที่จำเลยได้กระทำการทั้งหลายอย่างต่อเนื่องกันโดยจำเลยมีเจตนาอย่างเดียวคือให้พนักงานของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขหลงเชื่อว่าเอกสารต่าง ๆ ที่จำเลยได้ทำปลอมขึ้นเป็นเอกสารที่แท้จริงเพื่อจะได้จ่ายเงินตามจำนวนในธนาณัติให้แก่จำเลยเท่านั้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดฐานลักทรัพย์ธนาณัติของโจทก์ร่วมกับฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมโดยจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารเองซึ่งต้องลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งต้องลงโทษฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หาใช่เป็นเรื่องเจตนาการกระทำผิดของจำเลยแตกต่างกัน และเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันอย่างที่โจทก์ร่วมอ้างมาในคำแก้ฎีกาไม่ ซึ่งแม้ว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ก็เป็นการรับสารภาพว่าได้กระทำการต่าง ๆ ดังที่โจทก์ฟ้อง ส่วนที่ว่าจำเลยจะมีความผิดตามบทกฎหมายใดหรือไม่เป็นอำนาจของศาลจะพิจารณาวินิจฉัยแต่โดยที่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเกี่ยวกับธนาณัติของโจทก์ร่วมรวม 3 ฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับจำเลยได้กระทำการต่าง ๆ ต่างวันเวลากันและเป็นความผิดสำเร็จแต่ละฉบับต่างวันเวลากันด้วยการกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิด 3 กรรมต่างกันซึ่งต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปรวมแล้ว 6 กระทง มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายขอให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยนั้นเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้น เป็นการเหมาะสมแก่พฤติการณ์และสภาพความผิดแล้ว”

พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) วรรคแรก กับความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก และฐานใช้เอกสารปลอมโดยจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารเองซึ่งต้องลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 264 วรรคแรก เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 335(11) วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยกระทำความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวมารวม 3 กรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share