คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 64/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาระหว่างโจทก์กับอ.มิได้ระบุระยะเวลาที่อ.ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อณต่างประเทศและสัญญาค้ำประกันที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ก็มิได้ระบุเวลาที่อ.ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อเช่นกันฉะนั้นการที่อ.ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อณต่างประเทศเป็นเวลา2ปีครบกำหนดแล้วโจทก์ได้อนุมัติให้อ.ลาศึกษาต่อและลากิจเป็นเวลา4ปี5เดือนโดยจำเลยมิได้ยินยอมในการที่โจทก์อนุมัติให้อ.ศึกษาต่ออีกนั้นแม้จะเป็นภาระหนักขึ้นแก่จำเลยผู้ค้ำประกันแต่ก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงในสัญญาและเป็นคนละเรื่องกับการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้จำเลยจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดเมื่ออ.สำเร็จการศึกษาแล้วไม่กับมารับราชการกับโจทก์อันเป็นการผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์จำเลยจึงต้องรับผิดในหนี้ที่อ.ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยจึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยมิได้ให้การไว้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อ.ต้องกลับมารับราชการในวันที่1มิถุนายน2525แต่อ.ไม่กลับมารับราชการตามกำหนดดังกล่าวโจทก์จึงมีคำสั่งปลดออกจากราชการตั้งแต่วันที่1มิถุนายน2525ถือได้ว่าอ.ผิดสัญญาตั้งแต่วันดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่8มีนาคม2532ยังไม่เกิน10ปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2518 นายอนุพงศ์ เดชะปัญญาซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทอันดับ 1 อัตราเงินเดือน 2,230 บาท ตำแหน่งอาจารย์โท สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของโจทก์ได้รับอนุมัติจากโจทก์และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนให้ลาไปศึกษาต่อในวิชาวิศวกรรมเคมีในชั้นปริญญาเอก ณ ประเทศนิวซีแลนด์ด้วยทุนส่วนตัวโดยได้รับเงินเดือนจากโจทก์ตลอดเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2518 นายอนุพงศ์ได้ทำสัญญาให้ไว้ต่อโจทก์ว่า เมื่อเสร็จการศึกษาทั้งนี้ไม่ว่าการศึกษาจะสำเร็จหรือไม่ หรือนายอนุพงศ์ถูกเรียกตัวกลับก่อนนายอนุพงศ์สัญญาว่าจะรับราชการต่อไปกับโจทก์หรือกระทรวงทบวงกรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า2 เท่า ของเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม ทั้งนี้สุดแต่เวลาใดจะมากกว่ากัน หากผิดสัญญายินยอมชดใช้เงินคืนแก่โจทก์เท่ากับจำนวนที่ได้รับไปในระหว่างที่ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อ พร้อมด้วยเบี้ยปรับอีกจำนวนหนึ่งเท่ากับเงินที่ผู้ให้สัญญาจะต้องชดใช้คืนให้โดยนายอนุพงศ์ยินยอมจะชำระเงินให้โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ หากไม่ชำระภายในกำหนดยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของนายอนุพงศ์ต่อโจทก์ ต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2519 นายอนุพงศ์ได้เดินทางไปศึกษาต่อณ ประเทศนิวซีแลนด์ตามที่ได้รับอนุมัติและได้รับเงินเดือนจากโจทก์ตลอดมาจนถึงเดือนธันวาคม 2522 นายอนุพงศ์ได้ลาศึกษาต่อโดยไม่ได้รับเงินเดือนและได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2524 จากนั้นนายอนุพงศ์ได้รับอนุญาตให้ลากิจมีกำหนด 5 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2525 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2525 รวมเวลาที่นายอนุพงศ์ได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อและลากิจมีกำหนด 6 ปี 5 เดือนนายอนุพงศ์ไม่ได้กลับมารับราชการ โจทก์จึงมีคำสั่งปลดนายอนุพงศ์ ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2525เป็นต้นไป ในระหว่างที่นายอนุพงศ์ลาศึกษาต่อ นายอนุพงศ์ได้รับเงินเดือนและเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพไปจากโจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 132,450 บาท การที่นายอนุพงศ์ผิดสัญญาจึงต้องชดใช้เงินคืนแก่โจทก์จำนวน 132,450 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินที่ได้รับไปคือจำนวน 132,450บาท รวมเป็นเงิน 264,900 บาท ในวันที่ 8 ธันวาคม 2526โจทก์ได้ทวงถามให้นายอนุพงศ์ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ นายอนุพงศ์ ได้รับหนังสือแล้วเพิกเฉยจึงเป็นผู้ผิดนัดต้องรับชำระค่าดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 264,900 บาทนับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2527 จนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินค่าดอกเบี้ย 205,297.50 บาท จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งโจทก์ได้ทวงถามแล้ว จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 470,197.50 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับนายอนุพงศ์ไม่สมบูรณ์เพราะโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายนิล มณีโชติมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาระหว่างโจทก์กับนายอนุพงศ์ซึ่งโจทก์อนุญาตให้นายอนุพงศ์ลาไปศึกษาต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์มีกำหนด 2 ปี ครั้นเมื่อครบกำหนดแล้วนายอนุพงศ์ ได้ขอลาศึกษาต่ออีก 2 ปี โดยโจทก์ได้ขยายระยะเวลาให้นายอนุพงศ์ แต่ไม่ได้เรียกให้มาทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยจึงพ้นความรับผิด นอกจากนี้นายอนุพงศ์ไม่ได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศนิวซีแลนด์ตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2519 แต่เพิ่งจะเดินทางไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม2519 ก่อนหน้านั้นนายอนุพงศ์เคยขาดราชการถึง 40 วันสถานะความเป็นข้าราชการของนายอนุพงศ์จึงสิ้นสุดลงการที่โจทก์อนุมัติให้นายอนุพงศ์เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศได้จึงไม่ชอบนายอนุพงศ์เคยชำระเงินให้แก่โจทก์ไปแล้วจำนวน 88,754.06 บาท โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดเกินกว่า10 ปี นับตั้งแต่เวลาที่สัญญาระหว่างโจทก์กับนายอนุพงศ์สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2521 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 264,900 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13กุมภาพันธ์ 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่านายอนุพงศ์ เดชะปัญญา เป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดโจทก์ตำแหน่งอาจารย์โท คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับอนุมัติจากโจทก์ให้ลาไปศึกษาต่อในวิชาวิศวกรรมเคมีชั้นปริญญาเอก ณ ประเทศนิวซีแลนด์ มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2519เมื่อครบกำหนด 2 ปี นายอนุพงศ์ไม่สำเร็จการศึกษา จึงได้ขอลาศึกษาต่ออีก 4 ครั้ง รวมเป็นเวลา 4 ปี และขอลากิจต่ออีก5 เดือน นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2521 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม2525 ซึ่งโจทก์ได้อนุมัติให้นายอนุพงศ์ลาศึกษาต่อได้เมื่อครบกำหนดเวลาที่โจทก์อนุมัติให้ลาศึกษาต่อแล้ว นายอนุพงศ์ไม่กลับเข้ามารับราชการตามสัญญา โจทก์มีคำสั่งปลดนายอนุพงศ์ออกจากราชการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2525 ระหว่างที่นายอนุพงศ์ลาศึกษาต่อดังกล่าว นายอนุพงศ์ได้รับเงินเดือนและเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพจากโจทก์รวมเป็นเงิน 132,450 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยทำสัญญาประกันความรับผิดของนายอนุพงศ์เพียง 2 ปี การที่โจทก์อนุมัติให้นายอนุพงศ์ลาศึกษาต่อและลากิจภายหลังอีก 4 ปี5 เดือน เป็นการผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้และเป็นการนอกเหนือระยะเวลาตามสัญญาค้ำประกัน โดยจำเลยมิได้ตกลงด้วยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า สัญญาตามเอกสารหมาย จ.17ที่นายอนุพงศ์ ทำกับโจทก์นั้นระบุเพียงว่า นายอนุพงศ์ได้รับอนุมัติจากโจทก์ไปศึกษา ณ ต่างประเทศด้วยทุนประเภท 2(ส่วนตัว) เมื่อนายอนุพงศ์สำเร็จการศึกษา นายอนุพงศ์สัญญาว่าจะรับราชการกับโจทก์ หรือในกระทรวงทบวงกรมอื่นตามที่ราชการเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มทั้งนี้สุดแต่เวลาใดจะมากกว่ากัน หากนายอนุพงศ์ผิดสัญญาไม่กลับมารับราชการจำเลยจะชดใช้คืนให้แก่โจทก์ซึ่งทุนและหรือเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มที่นายอนุพงศ์ได้รับจากทางราชการในระหว่างเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษา นอกจากนี้นายอนุพงศ์จะจ่ายเงินเป็นเบี้ยปรับให้โจทก์อีกจำนวนหนึ่งเท่ากับเงินที่นายอนุพงศ์จะต้องชดใช้คืนและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.18ก็ระบุเพียงว่า ถ้านายอนุพงศ์ผิดสัญญาด้วยประการใด ๆ ก็ดีจำเลยยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามความรับผิดชอบของนายอนุพงศ์ตามสัญญาดังกล่าวทุกประการ เห็นได้ว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับนายอนุพงศ์มิได้ระบุระยะเวลาที่นายอนุพงศ์ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ และสัญญาค้ำประกันที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ก็มิได้ระบุเวลาที่นายอนุพงศ์ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อเช่นกัน ฉะนั้น การที่นายอนุพงศ์ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศเป็นเวลา 2 ปี ครบครบกำหนดแล้วโจทก์ได้อนุมัติให้นายอนุพงศ์ลาศึกษาต่อและลากิจเป็นเวลา 4 ปี 5 เดือน โดยจำเลยมิได้ยินยอมในการที่โจทก์อนุมัติให้นายอนุพงศ์ศึกษาต่ออีกนั้น แม้จะเป็นภาระหนักขึ้นแก่จำเลยผู้ค้ำประกันแต่ก็ไม่เป็นฝ่ายฝืนข้อตกลงในสัญญาและเป็นคนละเรื่องกับการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ จำเลยจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด เมื่อนายอนุพงศ์สำเร็จการศึกษาแล้วไม่กลับมารับราชการกับโจทก์ อันเป็นการผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดในหนี้ที่นายอนุพงศ์รับผิดต่อโจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายอนุพงศ์ได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพไปจากโจทก์132,450 บาท เมื่อผิดสัญญาต้องเสียค่าปรับอีก 1 เท่า เป็นเงิน264,900 บาท จำเลยต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยจึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยทั้งหมดนั้น เห็นว่า เป็นเรื่องที่จำเลยมิได้ให้การไว้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายอนุพงศ์ต้องกลับมารับราชการในวันที่ 1 มิถุนายน 2525แต่นายอนุพงศ์ไม่กลับมารับราชการตามกำหนดดังกล่าว โจทก์จึงมีคำสั่งปลดออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2525ถือได้ว่า นายอนุพงศ์ ผิดสัญญาตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2532 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share