แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การหักเงินสมทบของลูกจ้างส่งสำนักงานประกันสังคม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 47 หมายความว่า ทุกครั้งที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างนายจ้างต้องหักค่าจ้างของลูกจ้างส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคม โดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการจ่ายค่าจ้างตามปกติหรือตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง
นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างในวันที่ 25 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นการจ่ายล่วงหน้าก่อนวันสิ้นเดือนอันเป็นกำหนดจ่ายตามปกติก็เพื่อความสะดวกที่ลูกจ้างจะนำเงินไปใช้จ่ายในระหว่างคลอดบุตรซึ่งไม่ปรากฏว่ามีเจตนาทุจริต เมื่อมีการจ่ายค่าจ้างแล้ว ผู้เป็นนายจ้างก็มีหน้าที่ต้องหักค่าจ้างที่จ่ายแก่ลูกจ้างดังกล่าวส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมและเมื่อหักแล้วจะมีผลถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างหักค่าจ้าง เท่ากับลูกจ้างจ่ายเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2540 และ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 6 วรรคสาม บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน ให้ถือว่าเงินสมทบที่หักจากค่าจ้างที่จ่ายให้ลูกจ้างในเดือนใดเป็นการจ่ายเงินสมทบของเดือนนั้น และไม่ว่าเงิน สมทบนั้นจะได้หักไว้หรือนำส่งเดือนละกี่ครั้ง ให้ถือว่ามีระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบเท่ากับหนึ่งเดือน” จึงถือว่า เป็นการจ่ายเงินสมทบสำหรับเดือนธันวาคม 2540 และถือว่าเป็นการจ่ายเงินสมทบเท่ากับหนึ่งเดือน
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ประกันตนที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรไว้ในมาตรา 65 ว่า
ได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดเดือนเป็นสำคัญ มิได้บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนต้องทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดเดือน
คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีเหตุที่ศาลแรงงานจะเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทเชาว์อรุณ จำกัด ตำแหน่งพนักงานทั่วไป ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนโดยบริษัทหักเงินเดือนของโจทก์ร้อยละ ๑.๕ เข้าเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๔๐ จนถึงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ นายจ้างโจทก์จ่ายเงินเดือนประจำเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ และได้หักเงินเดือนโจทก์ส่งเข้าเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ โจทก์คลอดบุตร ที่โรงพยาบาลธนบุรี โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่รามอินทรา สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่รามอินทรา มีคำสั่งที่ ๒๐๙๙๔๓/๔๑ ลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๑ ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนเนื่องจากจ่ายเงินสมทบไม่ครบเจ็ดเดือนภายในระยะเวลาสิบห้าเดือน จึงยังไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว ตามคำวินิจฉัยเลขที่ ๑๔๘๗ (๒๗)/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ เพราะโจทก์ส่งเงินสมทบครบเจ็ดเดือนเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ อันเป็นเวลาก่อนที่โจทก์จะได้รับบริการทางการแพทย์ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่รามอินทราที่ ๒๐๙๙๔๓/๔๑ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๑๔๘๗ (๒๗)/๒๕๔๑ และให้จำเลยจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรตามกฎหมายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ทำงานในเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ไม่ครบเดือน จึงยังไม่ได้ส่งเงินสมทบในเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นเดือนที่เจ็ด จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทเชาว์อรุณ จำกัด โดยมีนายอรุณ เจริญเรืองวานิชย์ สามีโจทก์เป็นผู้จัดการทั่วไปได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน เดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โจทก์เป็นผู้ประกันตนโดยส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราร้อยละ ๑.๕ ของเงินเดือนโดยบริษัทเชาว์อรุณ จำกัด หักเงินเดือนของโจทก์ส่งเข้ากองทุนทุกวันสิ้นเดือนนับตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ต่อมาในเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ โจทก์ลาคลอดบุตรและขอรับเงินเดือนของเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างบริษัทเชาว์อรุณ จำกัด จึงจ่ายเงินเดือนของเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ และหักเงินเดือนของโจทก์ส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ต่อมาโจทก์คลอดบุตรเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ แล้ววินิจฉัยว่า การที่บริษัทเชาว์อรุณ จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างประจำเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ นั้นเป็นการจ่ายล่วงหน้าเพื่อความสะดวกที่โจทก์จะนำเงินไปใช้จ่ายระหว่างโจทก์ลาคลอดบุตรเท่านั้น มิใช่เป็นการจ่ายเงินเดือนตามระเบียบของนายจ้าง แม้นายจ้างจะหักค่าจ้างล่วงหน้าไว้ อ้างว่าเป็นเงินสมทบเพื่อส่งเข้ากองทุนประกันสังคมก็มิใช่เป็นการหักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามความหมายของมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ กรณีของโจทก์ฟังได้ว่าโจทก์ส่งเงินสมทบตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๔๐ ถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๐ รวมหกเดือน และโจทก์คลอดบุตรในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๐ เป็นการคลอดบุตรในระหว่างเดือนที่เจ็ดไม่ก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรตามมาตรา ๖๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ที่แก้ไขใหม่แล้ว คำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่รามอินทราที่ ๒๐๙๙๔๓/๔๑ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๑๔๘๗ (๒๗)/๒๕๔๑ ที่วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนตามคำฟ้องของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การหักเงินสมทบของลูกจ้างส่งสำนักงานประกันสังคมนั้น พระราชบัญญัติประกันสังคมมาตรา ๔๗ บัญญัติว่า “ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้นายจ้างหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามจำนวนที่จะต้องนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนตามมาตรา ๔๖ และเมื่อนายจ้างได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างหักค่าจ้าง” หมายความว่า ทุกครั้งที่นายจ้างจ่ายค่าจ้าง นายจ้างต้องหักค่าจ้างของลูกจ้างส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคม โดยบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการจ่ายค่าจ้างตามปกติหรือตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง การที่บริษัทเชาว์อรุณ จำกัด จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นการจ่ายล่วงหน้าก่อนวันสิ้นเดือนอันเป็นกำหนดจ่ายตามปกติก็เพื่อความสะดวกที่โจทก์จะนำเงินไปใช้จ่ายในระหว่างคลอดบุตรซึ่งไม่ปรากฏว่ามีเจตนาทุจริตแต่อย่างใด เมื่อมีการจ่ายค่าจ้างแล้วบริษัทเชาว์อรุณ จำกัด ผู้เป็นนายจ้างก็มีหน้าที่ต้องหักค่าจ้างที่จ่ายแก่โจทก์ดังกล่าวส่งเป็นเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมและเมื่อหักแล้วจะมีผลถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างหักค่าจ้าง เท่ากับโจทก์จ่ายเงินสมทบแก่สำนักงานประกันสังคมตั้งแต่วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๖ วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า “เพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลาการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนให้ถือว่าเงินสมทบที่หักจากค่าจ้างที่จ่ายให้ลูกจ้างในเดือนใดเป็นการจ่ายเงินสมทบของเดือนนั้น และไม่ว่าเงินสมทบนั้นจะได้หักไว้หรือนำส่งเดือนละกี่ครั้ง ให้ถือว่ามีระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบเท่ากับหนึ่งเดือน” กรณีของโจทก์บริษัทเชาว์อรุณ จำกัด จ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ ถือว่าเป็นการจ่ายเงินสมทบสำหรับเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ และถือว่าเป็นการจ่ายเงินสมทบเท่ากับหนึ่งเดือน เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทเชาว์อรุณ จำกัด ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โจทก์เป็นผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราร้อยละ ๑.๕ ของเงินเดือน โดยบริษัทเชาว์อรุณ จำกัด ผู้เป็นนายจ้างหักเงินเดือนของโจทก์ส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกวันสิ้นเดือน ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๐ ถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๐ รวมหกเดือน ดังนี้เมื่อนับรวมกับเงินสมทบที่ส่งในเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ อีกหนึ่งเดือนเท่ากับโจทก์ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมรวมเจ็ดเดือนแล้ว โดยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ประกันตนที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรไว้ในมาตรา ๖๕ ว่า “ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรสำหรับตนเองหรือภริยาหรือสำหรับหญิงซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับผู้ประกันตนโดยเปิดเผยตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดถ้าผู้ประกันตนไม่มีภริยา ทั้งนี้ต่อเมื่อภายในระยะเวลาสิบห้าเดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดเดือน” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวถือเอาจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนได้จ่ายมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดเดือนเป็นสำคัญ มิได้บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนต้องทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดเดือน เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ได้ส่งเงินสมทบมารวมเจ็ดเดือนแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรตามมาตรา ๖๕ ดังกล่าว ซึ่งจะได้ค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายครรภ์ละ ๔,๐๐๐ บาท ตามมาตรา ๖๖ ประกอบประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๘ และยังมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเป็นการเหมาจ่ายร้อยละห้าสิบของค่าจ้างตามมาตรา ๕๗ เป็นเวลาเก้าสิบวัน ตามมาตรา ๖๗ ซึ่งโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท จะได้รับเท่ากับ ๑๕,๐๐๐ บาท คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่รามอินทราที่ ๒๐๙๙๔๓/๔๑ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๑๔๘๗ (๒๗)/๒๕๔๑ ที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยทั้งสองดังกล่าว
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่รามอินทราที่ ๒๐๙๙๔๓/๔๑ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๑๔๘๗ (๒๗)/๒๕๔๑ ตามฟ้อง ให้จำเลยจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรจำนวน ๔,๐๐๐ บาท และเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท รวม ๑๙,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์.