คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 64/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 เป็นเพียงบทบัญญัติกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่พนักงานจะต้องพ้นจากตำแหน่ง มิได้หมายความว่า เมื่อพนักงานผู้ใดขาดคุณสมบัติเนื่องจากอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ การจ้างเป็นอันระงับไปทันที แต่รัฐวิสาหกิจจะต้องดำเนินการให้พนักงานผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 แล้ว โจทก์ทั้งสิบสี่จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย เงินกองทุนสงเคราะห์และดอกเบี้ยส่วนหนึ่งนั้นเรียกเก็บจากพนักงานเป็นรายเดือนไป จำเลยจัดให้มีขึ้นต่างหากจากค่าชดเชยเพื่อสงเคราะห์พนักงานและทายาท ส่วนเงินบำนาญนั้นเป็นเงินตอบแทนแก่ลูกจ้างที่ทำงานด้วยดีจนถึงวันออกจากงาน ซึ่งจำเลยจ่ายโดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอันแตกต่างไปจากวิธีการคำนวณค่าชดเชย เงินกองทุนสงเคราะห์และดอกเบี้ยกับเงินบำนาญจึงมิใช่ค่าชดเชย ดังนั้น แม้จะมากกว่าค่าชดเชยก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลย จำเลยมิได้กำหนดล่วงหน้าให้โจทก์ลาหยุดพักผ่อนประจำปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10 จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเอง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์มิได้กระทำผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสี่สำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอื่นอีกสามสำนวน ซึ่งศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีในวันนัดพิจารณา โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสิบสี่สำนวนนี้ เป็นโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 และโจทก์ที่ 16 โจทก์ที่ 17 ตามลำดับ โจทก์ทั้งสิบสี่สำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบสี่เป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2533 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่เพราะเหตุเกษียณอายุโดยโจทก์ทั้งสิบสี่ไม่มีความผิด จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสิบสี่เพียงเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันยังขาดอีกเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน และจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3ถึงโจทก์ที่ 12 และโจทก์ที่ 16 ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 จำเลยทั้งสิบสี่สำนวนให้การว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 ที่แก้ไขแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสิบสี่ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ จำเลยได้จ่ายเงินทดแทนเท่ากับเงินเดือนสุดท้าย 3 เดือน ตามมติคณะกรรมการของจำเลยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 กับจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์และดอกเบี้ยตามข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พนักงานและคนงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 และจ่ายเงินบำเหน็จหรือบำนาญตามระเบียบว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้างของการท่าเรือแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2519 ให้แก่โจทก์ทั้งสิบสี่รับไปแล้ว และเป็นจำนวนเงินสูงกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ ถือว่าเงินที่จำเลยจ่ายดังกล่าวเป็นค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน แล้วโจทก์ทั้งสิบสี่ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยอีก โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 ถึงโจทก์ที่ 12 และโจทก์ที่ 16 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี เพราะจำนวนวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลืออยู่ โจทก์ดังกล่าวไม่ใช้สิทธิเอง จำเลยไม่จำต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 ขอให้ยกฟ้องศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ จำเลยทั้งสิบสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าการที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสิบสี่ออกจากงานเพราะเกษียณอายุไม่ใช่การเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน แต่เป็นเพราะผลบังคับของกฎหมายคือพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518ซึ่งถือว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวมีกำหนดเวลาจ้างที่แน่นอนอยู่ในตัวด้วย โจทก์ทั้งสิบสี่จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติ คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 เป็นเพียงบทบัญญัติกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่พนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องพ้นจากตำแหน่งเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน มิได้หมายความว่าเมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดขาดคุณสมบัติเนื่องจากอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์การจ้างเป็นอันระงับไปทันที แต่รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างจะต้องดำเนินการให้พนักงานผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 แล้ว โจทก์ทั้งสิบสี่จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ทำนองว่าการเกษียณอายุเป็นการจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนนั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในข้อนี้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยอุทธรณ์ข้อที่สองว่า เมื่อโจทก์ทั้งสิบสี่ออกจากงานจำเลยได้จ่ายเงินทดแทน 3 เดือนของค่าจ้างเดือนสุดท้าย เงินกองทุนสงเคราะห์และดอกเบี้ย และเงินบำนาญให้โจทก์ทั้งสิบสี่ ซึ่งมากกว่าค่าชดเชยที่กฎหมายกำหนดและถือเป็นการจ่ายค่าชดเชยแล้วนั้นเห็นว่าเงินทดแทน 3 เดือนของค่าจ้างเดือนสุดท้ายที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิบสี่เมื่อเกษียณอายุ ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยแล้วเท่ากับจำนวนเงินดังกล่าว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับเงินกองทุนสงเคราะห์และดอกเบี้ยกับเงินบำนาญนั้น เห็นว่าเงินกองทุนสงเคราะห์และดอกเบี้ย จำเลยจัดให้มีขึ้นต่างหากไปจากค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และมีวัตถุประสงค์ไปในทางสงเคราะห์พนักงานและทายาท เงินจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเรียกเก็บจากพนักงานเป็นรายเดือนส่วนเงินบำนาญเป็นเงินตอบแทนแก่ลูกจ้างที่ทำงานมาด้วยดีจนถึงวันออกจากงาน ซึ่งจำเลยจ่ายโดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณทำนองเดียวกับกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญของข้าราชการอันแตกต่างไปจากวิธีการคำนวณค่าชดเชย เงินกองทุนสงเคราะห์และดอกเบี้ยกับเงินบำนาญจึงมิใช่ค่าชดเชย แม้จะมากกว่าค่าชดเชยก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสิบสี่ที่จะฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลย
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 ถึงโจทก์ที่ 12 และโจทก์ที่ 16 ไม่ใช้สิทธิลาพักผ่อนด้วยความสมัครใจจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นเห็นว่า จำเลยมิได้กำหนดล่วงหน้าให้โจทก์ดังกล่าวลาหยุดพักผ่อนประจำปี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ดังกล่าวไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเอง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโดยที่โจทก์ดังกล่าวมิได้กระทำผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ดังกล่าว”
พิพากษายืน

Share