แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ก. หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยมิได้นำรถยนต์ที่ ผู้เป็นหุ้นส่วนนำมาลงหุ้นไปจดทะเบียนโอนเป็นทรัพย์สินของจำเลย ปล่อยให้ซ่อมแซมรักษาและเก็บผลประโยชน์กันเอง จัดทำบัญชีค่าใช้จ่าย ของจำเลยว่ามีค่าซ่อมรถยนต์ค่าซื้ออะไหล่ ค่าน้ำมัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะจำเลยไม่มีรถยนต์เป็นของตนเอง เอาใบเสร็จค่าน้ำมันรถยนต์ ของตนมาลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายของจำเลย และใบเสร็จรับเงินถูกแก้ไขจำนวนเงินและราคาให้สูงกว่าความเป็นจริง ถือได้ว่า ก. ปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบส่อไปในทางทุจริต เป็นการละเมิดข้อบังคับของจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เลิกห้างจำเลยได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057(1) และ มาตรา 1080
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดเดชอุดม-กันทรลักษ์เดินรถและให้ยกฟ้องแย้งจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาต่อไปสรุปใจความได้ว่าการที่นายเกษมจัดการกิจการของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ผิดพลาดบกพร่องนั้นไม่ถึงขั้นร้ายแรงพอที่โจทก์จะฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ พิเคราะห์แล้ว เรื่องความผิดพลาดบกพร่องของนายเกษมในการจัดการกิจการของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 นั้น ต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ซึ่งจำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านเป็นทางอื่นซึ่งฟังเป็นยุติได้ดังนี้ ประการแรกนายเกษมในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 มิได้นำรถยนต์ที่ผู้เป็นหุ้นส่วนนำมาลงหุ้นไปจดทะเบียนโอนเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วน จำเลยที่ 1 ปล่อยให้ซ่อมแซมรักษาและเก็บผลประโยชน์กันเอง ประการที่สองนายเกษมได้จัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ว่ามีค่าซ่อมรถยนต์ ค่าซื้ออะไหล่รถยนต์ ค่าน้ำมันโซล่าและค่าน้ำมันเบนซินซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ไม่มีรถยนต์เป็นของตนเองเลย ประการที่สามนายเกษมเอาใบเสร็จค่าน้ำมันรถยนต์ของนายเกษมมาลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1และประการที่สี่ใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย จ.12, จ.14, จ.21, จ.23 และจ.26 ถูกแก้ไขจำนวนเงินและราคาให้สูงกว่าความเป็นจริงมาก ศาลฎีกาเห็นว่าตามพฤติการณ์ดังกล่าวของนายเกษมหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1นั้น ย่อมถือได้ว่าปฏิบัติหน้าที่หุ้นส่วนผู้จัดการโดยมิชอบเป็นไปในทางทุจริตเป็นการล่วงละเมิดข้อบังคับของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.3โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057(1) และมาตรา 1080”
พิพากษายืน