คำวินิจฉัยที่ 10/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชน ยื่นฟ้องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๔๓๘ เดิมเป็นที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๖ ของผู้มีชื่อ แต่จำเลยที่ ๒ และสามีจำเลยที่ ๒ ในขณะนั้นยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ต่อหน่วยงานของ จำเลยที่ ๑ โดยนำชี้ที่ดินเพื่อรังวัดและจัดทำแผนที่ต้นร่าง ส.ป.ก./สร ๒๒ ในเขตโครงการป่าดงหัวกองและป่าดงบังอี่ (อี) และยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินเพื่อแจ้งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินทับซ้อนที่ดินของโจทก์ และจำเลยที่ ๒ รื้อถอนเสารั้วคอนกรีตและลวดหนามที่เป็นแนวเขต ใช้รถไถพรวนหน้าดิน และฝังเสาเดินสายไฟฟ้าเข้าไปในที่ดินโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์และเพิกถอนแผนที่แปลงที่ดินเพื่อประกอบการเกษตรกรรมตามแบบ ส.ป.ก./สร.๕ ก ในเขตปฏิรูปที่ดินโครงการดงหัวกองและป่าดงบังอี่ (อี) กลุ่ม ๑๐๘๐ แปลงที่ ๑ และที่ ๒ ที่มีชื่อจำเลยที่ ๒ ห้ามจำเลยที่ ๒ และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยที่ ๒ รื้อถอนเสาไฟฟ้า ชำระค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๔๓๘ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และยังอยู่ในขั้นตอนของการรังวัด ยังไม่อนุญาตให้จำเลยที่ ๒ หรือผู้ใดเข้าทำประโยชน์ และขอให้ศาลพิพากษาให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๔๓๘ และห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้อง ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๔๓๘ ของโจทก์เป็นคนละแปลงกับที่ดินที่จำเลยที่ ๒ ครอบครองและยื่นคำขอออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ หากว่าที่ดินบางส่วนเป็นที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๔๓๘ ของโจทก์ ที่ดินส่วนนั้นก็เป็นของจำเลยที่ ๒ เพราะได้ครอบครองทำประโยชน์โดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๑ รังวัดทำแผนที่ที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามการนำชี้ของจำเลยที่ ๒ และสามีจำเลยที่ ๒ ในขณะนั้นทับที่ดินมีเอกสารสิทธิตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๔๓๘ ของโจทก์ อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิและพิสูจน์สิทธิในที่ดินของโจทก์เป็นสำคัญ และการที่ศาลจะมี คำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share