แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้ออุทธรณ์ฎีกาของโจทก์ซึ่งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้ และศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วย จึงเป็นอุทธรณ์ฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ฎีกา ที่ดินมรดกของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนด้านที่ติดคลองกลายเป็นที่ดินที่อยู่ติดกับถนนที่ที่จะก่อสร้างเนื่องจากการเวนคืนซึ่งเป็นถนนที่ใช้เป็นทางสัญจรกว้าง 60 เมตรเป็นถนนขนาดใหญ่ แม้จะทำให้ที่ดินด้านกว้างซึ่งติดถนนสาธารณะอยู่แล้วแคบลงไปกว่าเดิม และเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถจะใช้ที่ดินส่วนที่เหลือก่อสร้างอาคารสูงตามความตั้งใจของโจทก์ก็ตาม แต่ประโยชน์ในทางอื่นที่โจทก์ได้รับจากการใช้ที่ดินส่วนที่เหลือด้านที่ติดกับถนนที่ทางราชการตัดใหม่กลับมีมากกว่าเดิมเป็นอย่างมาก คือสามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดแนว ทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนออกใช้บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่ก็ตาม แต่มาตรา 21 วรรคสอง และวรรคสาม ที่ให้เอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทนและให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์อันราคาลดลงนั้น เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักสำคัญในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 เท่านั้น จึงไม่ใช่กรณีที่จะถือเป็นเหตุที่จะทำให้หลักการสำคัญตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามใช้บังคับไม่ได้ เมื่อปรากฏชัดว่าที่ดินของโจทก์ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืน จึงต้องนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับ เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนจะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพียงใดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530หมวด 2 เงินค่าทดแทน และผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18(1) ที่จะได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนั้นต้องเป็นกรณีที่ที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนนั้นราคาลดลง แต่เมื่อที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนนั้นมีราคาสูงขึ้น ทั้งไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับการต้องถอยร่นระยะจากแนวถนนสาธารณะเมื่อมีการก่อสร้างอาคารตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนในส่วนนี้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองและนายทิม หวั่งหลีเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนายตันซิวติ่ง หวั่งหลี ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 นายทิมได้ถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสองจึงเป็นผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่และมีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของนายตันซิวติ่งตามกฎหมายทรัพย์มรดกส่วนหนึ่งของนายตันซิวติ่งซึ่งโจทก์ทั้งสองร่วมกันจัดการคือที่ดินโฉนดเลขที่ 4491 เนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน19 ตารางวา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2516 ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลมเขตบางรัก และแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอนและแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516เพื่อสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานครปรากฏว่าที่ดินของนายตันซิวติ่ง อยู่ในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติที่ประกาศเวนคืน เนื้อที่ 2 ไร่76 ตารางวา หลังจากนั้น โจทก์ทั้งสองกับนายทิมได้จดทะเบียนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกของนายตันซิวติงทราบว่าที่ดินดังกล่าวบางส่วนอยู่ในแนวเขตเวนคืน โจทก์ทั้งสองกับนายทิมได้ทำการแบ่งแยกที่ดินเพื่อแบ่งแก่ทายาทตามข้อกำหนดในพินัยกรรมรวม 6 โฉนด ภายหลังแบ่งแยกที่ดินแล้ว ปรากฏว่าที่ดินถูกเวนคืนรวม 3 โฉนด คือโฉนดเลขที่ 4491,41367 และ41368 รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 1,033 ตารางวา ต่อมาผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งราคาค่าทดแทนและแจ้งการเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ให้นายตันซิวติ่งทราบซึ่งโจทก์ทั้งสองเห็นว่า คณะกรรมการดังกล่าวกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่นายตันซิวติ่งยังไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ทั้งสองจึงได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่27 ธันวาคม 2534 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ทั้งสองเห็นว่าราคาค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวยังไม่เป็นธรรมเพราะที่ดินที่ถูกเวนคืนมีสภาพที่ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจที่สำคัญที่สุด และที่ดินอยู่ติดถนนสาธารณประโยชน์ (ถนนสาธร)สามารถเข้าออกที่ดินได้สะดวก และเมื่อที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนไปบางส่วนทำให้โจทก์ทั้งสองไม่อาจดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดได้ตามโครงการ ดังนั้น ที่ดินในส่วนที่เหลือจึงไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่การเวนคืนที่ดินดังกล่าวกลับทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือไม่สามารถสร้างอาคารเต็มเนื้อที่เหลือจากการเวนคืน เพราะจะต้องเสียพื้นที่เพื่อเป็นแนวถอยร่นของตัวอาคารตลอดแนวขนานกันถนนที่ตัดใหม่ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จำนวนไม่น้อยกว่า380 ตารางวา แต่โจทก์ทั้งสองขอคิดเพียง 243 ตารางวาซึ่งจำเลยทั้งสี่มิได้กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสี่จะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ กล่าวคือที่ดินที่ถูกเวนคืน 1,033 ตารางวา และที่ดินส่วนที่เหลือต้องถอยร่นตัวอาคารตลอดแนวที่ดินอีกจำนวน 243 ตารางวาคิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 510,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2534 ถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ย 24,800,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 535,200,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 535,200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน510,400,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนโจทก์ทั้งสองได้รับประโยชน์จากการเวนคืนตัดถนน เพราะมีราคาสูงขึ้น และที่ดินที่เหลือมีจำนวนมากกว่าทีถูกเวนคืนจึงต้องเอาราคาที่สูงขึ้นหักออกจากค่าตอบแทน เมื่อเปรียบเทียบกับที่ดินส่วนที่เหลือ 1,647 ตารางวา ภายหลังตัดถนนที่เวนคืนแล้วที่ดินมีราคาสูงขึ้นเป็นราคาตารางวาละ 30,000 บาทเนื้อที่ 50 ตารางวา และราคาตารางวาละ 80,000 บาทเนื้อที่ 1,597 ตารางวา ตามตำแหน่งที่ตั้ง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น129,260,000 บาท ฉะนั้นราคาที่ดินที่สูงขึ้นคิดได้เป็นเงิน63,850,000 บาท แต่ค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นเงิน36,280,000 บาท เมื่อหักกลบลบกันแล้วเกลื่อนกลืนกันที่ดินถูกเวนคืนเพียง 876 ตารางวา เท่านั้นและมีราคาไม่ถึงตารางวาละ 400,000 บาท นอกจากนี้โครงการก่อสร้างอาคารชุดของโจทก์ทั้งสองเป็นเพียงโครงการ ยังไม่มีการดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างแต่อย่างใด และเป็นเพียงการคาดคะเนในอนาคตเท่านั้น และหากโจทก์ทั้งสองจะก่อสร้างหรือใช้ประโยชน์บนที่ดินไม่ว่าที่ดินจะถูกเวนคืนหรือไม่โจทก์ทั้งสองก็ต้องเสียพื้นที่เพื่อเป็นแนวถอยร่นของตัวอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้รับความเสียหายและคณะกรรมการกำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองเป็นธรรม เหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 131,400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงิน61,320,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังยุติได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนายตันซิวติ่ง หวั่งหลี เจ้ามรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 4491 เนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 19 ตารางวาซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ติดถนนสาธร หน้ากว้างประมาณ 66 เมตรยาวประมาณ 166 เมตรและเป็นที่ดินถูกเวนคืนในคดีนี้เมื่อปี 2506 และ 2511 ทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ตำบลสีลม อำเภอบางรัก และตำบลยานนาวา ตำบลทุ่งมหาเมฆตำบลทุ่งวัดดอน ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนครพ.ศ. 2506 และ 2511 มีอายุใช้บังคับแต่ละฉบับ 5 ปี ต่อมาทางราชการได้ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวาแขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำ สำหรับกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนั้น ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ที่ดินมรดกของนายตันซิวติ่ง หรือที่ดินโฉนดเลขที่ 4491 ถูกเวนคืนลำดับที่ 47 จำนวนเนื้อที่ 876 ตารางวา แต่เมื่อรังวัดแบ่งแยกโจทก์ทั้งสองอ้างว่าที่ดินแปลงดังกล่าวถูกเวนคืนเนื้อที่1,033 ตารางวา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือ ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2534 ซึ่งเป็นหนังสือของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่าที่ดินมรดกของนายตันซิวติ่ง ถูกเวนคืนบางส่วน คณะกรรมการฯได้กำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 30,000 บาท และ70,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 36,280,000 บาทโจทก์ทั้งสองไม่พอใจค่าทดแทนที่คณะกรรมการฯ กำหนดให้จึงอุทธรณ์ขอค่าทดแทนเพิ่มต่อจำเลยที่ 4 เป็นตารางวาละ400,000 บาท จำเลยที่ 4 ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองเพียงแต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติให้คืนเงินค่าทดแทนที่ดินหักไว้จำนวน 36,280,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่าที่ดินมรดกของนายตัวซิวติ่ง โฉนดเลขที่ 4491แขวงบางรัก (สาธร) เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ถูกเวนคืนโดยพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 จำนวนเนื้อที่เท่าไร ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินมรดกของนายตันซิวติ่งถูกเวนคืนเพียงเนื้อที่ 876 ตารางวาตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเท่านั้น หาใช่เนื้อที่ 1,033 ตารางวาดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่
ส่วนปัญหาที่โจทก์ทั้งสองฎีกาในประการต่อมาว่า การที่คณะกรรมการฯ มิได้พิจารณากำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสองภายในกำหนด 120 วัน และมิได้ประกาศราคาที่กำหนดภายใน 180 วัน นับแต่วันคณะกรรมการฯได้รับแต่งตั้งถือว่าเป็นการไม่ชอบ จึงไม่อาจใช้ข้อพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์มาใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้ จำเลยทั้งสี่จึงต้องชดใช้ค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแก่โจทก์ทั้งสองตามราคาในขณะที่โจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิคือตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2534 เป็นต้นไปนั้น เห็นว่า ข้อฎีกาของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นข้อที่ฎีกาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายฟ้องไว้ และศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วย จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งสองยกขึ้นเป็นข้อฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในปัญหานั้นชอบแล้ว
สำหรับปัญหาเรื่องค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่ทั้งสองฝ่ายต่างฎีกาคือ โจทก์ทั้งสองฎีกาขอค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มโดยกล่าวในฎีกาว่าขณะที่คณะกรรมการฯ พิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ดินมรดกของนายตันซิวติ่งมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด ตารางวาละ 400,000 บาท ไม่ใช่ตารางวาละ70,000 บาท ตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ โจทก์ทั้งสองจึงควรมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นตามราคาที่ดินที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในขณะนั้นคือตารางวาละ400,000 บาท และจำเลยทั้งสี่ฎีกาขอให้ถือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2531 ถึง 2534 ตามที่คณะกรรมการฯใช้เป็นเกณฑ์มาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองและให้เอาราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งสองจะพึงได้รับด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา21(1) ถึง (5) เว้นแต่วันที่เป็นฐานที่ตั้งสำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯมาเป็นปี 2531 อันเป็นปีที่มีการเริ่มดำเนินการเพื่อกำหนดค่าทดแทนใหม่ย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมตรงกับหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ปัญหาว่าเงินค่าทดแทนที่ดินมรดกของนายตัวซิวติ่งที่ถูกเวนคืนเมื่อกำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบสภาพที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในปี 2531 ประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแล้ว ควรเป็นเงินจำนวนเท่าใดนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินมรดกของนายตันซิวติ่งเป็นที่ดินอยู่ติดถนนสาธรซึ่งเป็นถนนใหญ่สายสำคัญสายหนึ่งที่อยู่ในย่านความเจริญทางธุรกิจกลางเมืองหลวงและเชื่อมต่อกับถนนสายสำคัญอื่นอีกหลายสาย การคมนาคมสะดวก มีอาคารสูงทั้งที่เป็นอาคารสำนักงานธุรกิจการค้าและอาคารสถานทูตของประเทศต่าง ๆ หลายประเทศตั้งอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินแปลงดังกล่าวก่อนถูกเวนคืนมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าได้สัดส่วนมีหน้ากว้างที่ติดถนนสาธรประมาณ66 เมตร และยาวลึกเข้าไปประมาณ 166 เมตร และเมื่อฟังประกอบกันกับราคาที่ดินที่ซื้อขายกันเมื่อวันที่19 ธันวาคม 2534 ตารางวาละประมาณ 300,000 บาทแล้วมีเหตุให้เชื่อได้ว่าที่ดินมรดกของนายตันซิวติ่วทั้งแปลงมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในปี 2531 สูงกว่าราคาที่คณะกรรมการฯ หรือที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ แต่ราคาไม่ถึงตารางวาละ 300,000 บาท ดังนั้นค่าทดแทนที่ดินมรดกของนายตันซิวติ่งซึ่งถูกเวนคืนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เฉลี่ยตารางวาละ 200,000 บาท จำนวน 876 ตารางวา เป็นเงิน175,200,000 บาท นับว่าเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองและสังคมแล้วอย่างไรก็ดีที่ดินมรดกของนายตันซิวติ่งที่เหลือจากการเวนคืนด้านที่ติดคลองกลายเป็นที่ดินที่อยู่ติดกับถนนที่ที่จะก่อสร้างเนื่องจากการเวนคืนซึ่งเป็นถนนที่ใช้เป็นทางสัญจรกว้าง 60 เมตรเป็นถนนขนาดใหญ่ แม้จะทำให้ที่ดินด้านกว้างซึ่งติดถนนสาธรแคบลงไปกว่าเดิม และเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองไม่สามารถจะใช้ที่ดินส่วนที่เหลือก่อสร้างอาคารสูงตามความตั้งใจของโจทก์ทั้งสองอย่างที่โจทก์ทั้งสองนำสืบก็ตามแต่ประโยชน์ในทางอื่นจากการใช้ที่ดินส่วนที่เหลือด้านที่ติดกับถนนที่ทางราชการตัดใหม่กลับมีมากกว่าเดิมเป็นอย่างมากคือสามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดแนวย่อมทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนอีกจำนวน 1,647 ตารางวา มีราคาสูงขึ้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนออกใช้บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่ก็ตาม แต่มาตรา 21 วรรคสองและวรรคสาม ที่ให้เอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทนและให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์อันราคาลดลงนั้น เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการสำคัญในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 เท่านั้น จึงไม่ใช่กรณีที่จะถือเป็นเหตุที่จะทำให้หลักการสำคัญตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามใช้บังคับไม่ได้ เมื่อปรากฏชัดว่าที่ดินมรดกของนายตันซิวติ่งในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืนจึงต้องนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งสองได้รับ เมื่อคำนึงถึงส่วนได้เสียทั้งปวงแล้วเห็นว่าราคาที่สูงขึ้นของที่ดินมรดกของนายตันซิวติ่งส่วนที่เหลือจากการเวนคืนที่จำเลยทั้งสี่นำสืบตามเอกสารหมาย ล.15 ว่าเนื้อที่ 400 ตารางวาสูงขึ้นตารางวาละ 10,000 บาท เป็นเงิน4,000,000 บาท และเนื้อที่ 1,197 ตารางวา สูงขึ้นตารางวาละ50,000 บาทเป็นเงิน 59,850,000 บาท รวมเป็นเงิน63,850,000 บาท เป็นจำนวนที่เหมาะสม จึงเอาราคาที่สูงขึ้นจำนวน 63,850,000 บาทไปหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวน 175,200,000 บาท คงเหลือเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์ทั้งสองจะได้รับจำนวน 111,350,000 บาทที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองตารางวาละ 70,000 บาทรวมเป็นเงิน 61,320,000 บาทและฟังว่าการที่ที่ดินมรดกของนายตันซิวติ่งถูกเวนคืนบางส่วนไม่ทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือมีราคาเพิ่มขึ้นนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ส่วนข้อฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่เกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินมรดกของนายตันซิวติ่งที่เหลือจากการถูกเวนคืนซึ่งโจทก์ทั้งสองฎีกาว่าหากจะมีการก่อสร้างอาคารสูง 9 ชั้น ในภายหลังจะต้องมีการถอยร่นระยะจากแนวที่ดินด้านที่ติดถนนสาธารณะอันหมายถึงถนนที่ทางราชการตัดใหม่เข้าไปประมาณ 6.30 เมตรคิดเป็นเนื้อที่ 261.45 ตารางวา แต่โจทก์ทั้งสองขอคิดเพียง243 ตารางวา ตารางวาละ 400,000 บาท เป็นเงิน97,200,000 บาท โจทก์ทั้งสอง จึงขอให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าทดแทนที่ดินส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองด้วยนั้นเห็นว่าโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนายตันซิวติ่งเจ้ามรดกที่ดินที่ถูกเวนคืนจะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพียงใดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 หมวด 2เงินค่าทดแทน ซึ่งมาตรา 18 บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนนั้นให้กำหนดให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้ (1) เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืน” และมาตรา 21บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6” วรรคสามบัญญัติว่า “ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย”และวรรคห้าบัญญัติว่า “ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนนั้นและบุคคลดังกล่าวได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับความเสียหายนั้นด้วย” ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18(1)ที่จะได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนนั้นต้องเป็นกรณีที่ที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนนั้นราคาลดลงแต่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าที่ดินมรดกของนายตันซิวติ่งที่เหลือจากการเวนคืนนั้นมีราคาสูงขึ้น ทั้งไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับการต้องถอยร่นระยะจากแนวถนนสาธารณะเมื่อมีการก่อสร้างอาคารตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนในส่วนนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าทดแทนที่ดินเพื่อการดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 111,350,000บาท แก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์