แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์และมีคำสั่งว่าคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาโจทก์ยังอุทธรณ์ไม่ได้ซึ่งมีความหมายว่าเป็นการไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์นั่นเองการที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา234ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค2มีคำสั่งยืนตามคำปฎิเสธของศาลชั้นต้นแล้วคำสั่งนี้ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา236วรรคแรก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยและบริวารขนย้ายออกไปจากที่ดินพิพาทและชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทพร้อมส่งมอบที่ดินคืนให้โจทก์และใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้อง
ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า เห็นสมควรให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้นให้พิจารณาคดีใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ ต่อมาศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์และมีคำสั่งว่า คำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์ยังอุทธรณ์ไม่ได้ ให้เพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์
โจทก์ อุทธรณ์ คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งว่า ที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาว่าโจทก์ฎีกาได้หรือไม่ เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์และมีคำสั่งว่า คำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์ยังอุทธรณ์ไม่ได้ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นการไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์นั่นเอง การที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งยืนตามคำปฎิเสธของศาลชั้นต้นนั้นแล้วคำสั่งนี้ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 236 วรรคแรก ต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายก ฎีกา ของ โจทก์