แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สิทธิตามประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510อันแตกต่างกับสิทธิครอบครองซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นสิทธิคนละส่วนแยกต่างหากจากกันได้ใช้ว่าหากผู้ใดมีสิทธิตามประทานบัตรแล้วจะไม่อาจมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามประทานบัตรนั้นได้ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิครอบครองได้โอนการครอบครองติดต่อกันมาจนถึงโจทก์ซึ่งรับโอนทั้งสิทธิครอบครองและสิทธิตามประทานบัตรจากบริษัทซ. กับผู้มีชื่ออื่นๆและโจทก์ได้ยึดถือครอบครองตลอดมาโจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1367แม้ประทานบัตรหมดอายุแล้วก็ไม่ทำให้โจทก์สิ้นสิทธิครอบครองการที่จำเลยและบริวารบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านในที่ดินพิพาทเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 1,000 ไร่เศษ ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลนางนอนอำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดยซื้อกรรมสิทธิ์และสิทธิประโยชน์ทั้งหมดในกิจการเหมืองแร่และสิทธิในการครอบครองที่ดินจากบริษัทไซมิสทินซินดิเกต จำกัด และผู้มีชื่อโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์จึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวทั้งหมดตั้งแต่ปี 2514จนถึงปัจจุบัน นอกจากโจทก์จะทำกิจการเหมืองแร่ตามประทานบัตรในที่ดินดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังทำประโยชน์ในที่ดินโดยการปลูกต้นไม้ยืนต้นและทำการปักเสาล้อมรั้วลวดหนาม ปักป้ายแสดงความเป็นเจ้าของรอบบริเวณที่ดินที่โจทก์ครอบครองทั้งหมดเพื่อตนเองมาโดยตลอดพร้อมกันไปด้วย เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2537จำเลยได้เข้ามาปลูกสร้างโรงเรือนที่ดินของโจทก์อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ ขอให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินจากโจทก์
จำเลย ขาดนัด ยื่นคำให้การ และ ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งว่าโจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1,000ไร่ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทด้วย โดยโจทก์ซื้อสิทธิครอบครองและสิทธิประโยชน์ทั้งหมด กล่าวคือ สิทธิในกิจการเหมืองแร่และสิทธิในการครอบครองที่ดินจากบริษัทไซมิสทินซินดิเกต จำกัดและผู้มีชื่อคนอื่น ๆ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวทั้งหมดทั้งโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์เพื่อตนเองมาโดยตลอดโดยได้สำรวจแร่และดำเนินกิจการเหมืองแร่ตามประทานบัตรและโจทก์ได้ทำส่วนเกษตรโดยปลูกพืชผลต่าง ๆ ในที่ดินที่โจทก์ครอบครองทั้งหมดด้วย ตามคำฟ้องโจทก์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในการทำเหมืองแร่โดยรับโอนสิทธิตามประทานบัตรแล้ว ยังได้กล่าวอ้างมาด้วยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อหรือรับโอนมาจากเจ้าของที่ดินเดิมอีกด้วย เห็นว่า สิทธิตามประทานบัตรซึ่งเป็นสิทธิในการทำเหมืองแร่นั้นเป็นสิทธิที่จะต้องบังคับตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 อันแตกต่างกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นสิทธิคนละส่วนแยกต่างหากจากกันได้ หาใช่ว่าหากผู้ใดมีสิทธิตามประทานบัตรแล้วจะไม่อาจมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามประทานบัตรนั้นได้มิฉะนั้นจะมีผลเป็นว่าผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงใดโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แต่เดิมแล้ว หากต่อมาได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในที่ดินแปลงดังกล่าวจะทำให้สิทธิครอบครองซึ่งมีอยู่เดิมก่อนแล้วต้องหมดสิ้นไปด้วย สำหรับคดีนี้โจทก์มีนายประมูล เขียวหวาน ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และเป็นหัวหน้าช่างแผนที่มีหน้าที่ระวังดูแลที่ดินของโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ซื้อทั้งสิทธิครอบครองและสิทธิประโยชน์ในที่ดินรวมทั้งหมดจากบริษัทไซมิสทินซินดิเกต จำกัดมาตั้งแต่ปี 2514 และมีนายสายัณห์ ศิริรัตน์ รองหัวหน้าคนงานมีหน้าที่ดูแลพืชผลของโจทก์เบิกความยืนยันว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยปักเสาคอนกรีตขึงลวดหนามล้อมรอบอาณาบริเวณที่ดินที่โจทก์เคยทำเหมืองแร่ และปลูกพืชผลอาสิน เช่นต้นมะม่วงหิมพานต์ ต้นยูคาลิปตัส ต้นเงาะ และต้นมะพร้าว เป็นการแสดงความเป็นเจ้าของมาโดยตลอด ส่วนจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้อ้างตนเองเข้ามาเบิกความให้เห็นเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับบริษัทไซมิสทินซินดิเกต จำกัดเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 ยังระบุว่าผู้ขายจะขายและผู้ซื้อ (โจทก์)จะซื้อที่ดินกรรมสิทธิ์และผละประโยชน์ทั้งหมดในที่ดินแปลงเหนือที่กล่าวนี้ และเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นบันทึกการที่โจทก์ได้รับเอกสารต่าง ๆเกี่ยวกับการซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.3ก็ระบุว่า โจทก์ได้รับหนังสือสำคัญซื้อขายที่ดินที่เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมขายให้บริษัทแอลลูเวียลทิน (สยาม) จำกัดและเจ้าของแต่ละรายได้รับเงินค่าที่ดินไปเรียบร้อยแล้วร่วมทั้งที่ดินของนายแคล้ว สุทธานันท์ นางปาน บุญเจียมนายติ้น จันทรักษา นางโหงย แซ่หลี (นายหลี ปี) นายหงวนนายเกียรติ และนายมงคล ตามบันทึกดังกล่าวนอกจากจะมีข้อความว่าเจ้าของที่ดินเดิมได้แจ้งแก่อำเภอให้ทราบและได้ขอถอนแบบ ส.ค.1 ที่ได้ยื่นต่ออำเภอแล้ว ยังระบุด้วยว่าเจ้าของที่ดินเดิมแต่ละรายที่ยื่นแบบแจ้งการครอบครองไว้แล้วนั้นได้โอนสิทธิเหนือที่ดินแต่ละรายให้แก่ผู้อื่นด้วยอันเป็นการสละสิทธิครอบครองเพราะได้โอนไปให้แก่บุคคลอื่นแล้วโดยมิได้ยึดถือครอบครองเพื่อตนอีกต่อไป หาใช่ว่าเป็นการสละสิทธิครอบครองอันจะมีผลทำให้ที่ดินดังกล่าวกลับกลายสภาพที่รกร้างว่างเปล่าแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้ ได้ความชัดแจ้งว่าการที่เจ้าของที่ดินเหล่านี้สละสิทธิครอบครองในที่ดินของตนก็เพื่อโอนให้บริษัทแอลลูเวียลทิน (สยาม) จำกัด นำไปขอประทานบัตรที่ดินพิพาท ดังนั้น ที่ดินบริเวณดังกล่าวตามประทานบัตรของโจทก์ซึ่งรับโอนมาจากบริษัทไซมิสทินซินดิเกต จำกัดผู้รับโอนมาจากบริษัทแอลลูเวียลทิน (สยาม) จำกัด อีกต่อหนึ่งจึงมิใช่ที่ว่างเปล่าตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แต่ประการใดข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิครอบครองได้โอนการครอบครองติดต่อกันมาจนถึงโจทก์ซึ่งรับโอนทั้งสิทธิครอบครองและสิทธิตามประทานบัตรจากบริษัทไซมิสทินซินดิเกต จำกัด และได้ความว่าโจทก์ได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367แม้ประทานบัตรของโจทก์หมดอายุแล้วก็หามีผลทำให้โจทก์สิ้นสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสิทธิคนละส่วนกันแต่อย่างใดไม่ การที่จำเลยและบริวารบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านในที่ดินพิพาท จึงเป็นการรบกวนการครอบครองอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง และห้ามจำเลยกับบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป