คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6396/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองทำนิติกรรมขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรม ย่อมถือว่าโจทก์ได้บอกล้างโมฆียะกรรมนั้นแล้วนิติกรรมการซื้อขายที่ดินจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินมาจากโจทก์ทั้งสองด้วยวิธีการไม่ถูกต้องชอบธรรม จึงเป็นการได้ที่ดินมาโดยไม่สุจริตการบอกล้างโมฆียะกรรมของโจทก์ทั้งสองย่อมยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิขอเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1469เนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา เมื่อประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1กับพวก ใช้อุบายหลวกลวงขอซื้อที่ดินดังกล่าวในราคา 14,696,000 บาท ตกลงชำระค่าที่ดินทั้งหมดในคราวเดียวกัน วันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคารแหลมทอง จำกัด (มหาชน) สาขาถนนหลังสวน ชำระค่าที่ดินให้โจทก์ที่ 2จำนวน 14,000,000 บาท เพื่อเข้าบัญชีโจทก์ที่ 2 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขางามวงศ์วาน ส่วนที่เหลือ 696,000 บาท จะชำระที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีสาขาลำลูกกา วันที่ 27 เดือนเดียวกันโจทก์ที่ 2 ได้รับแจ้งจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดสาขางามวงศ์วาน ว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าว โจทก์ที่ 2 ตรวจสอบไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาลำลูกกา จึงทราบว่าจำเลยที่ 1จดทะเบียนขายฝากที่ดินให้จำเลยที่ 2 ไปในวันเดียวกันโดยไม่สุจริต ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมการจดทะเบียนขายที่ดินฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และนิติกรรมการขายฝากที่ดินดังกล่าวฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน2538 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าว และให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 1469 ตำบลลำไทร (คลองหกวาสายล่างฝั่งเหนือ) อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) และลงชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามเดิม กับให้จำเลยทั้งสองร่วมคืนโฉนดพิพาทแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1มีผลสมบูรณ์ จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฉ้อโกงโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่อาจยกความบกพร่องในการซื้อระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 มาใช้ยันจำเลยที่ 2 ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรม นายณรงค์ศักดิ์ ยูนุช ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 1469 ตำบลลำไทร (คลองหกวาสายล่างฝั่งเหนือ) อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) เมื่อวันที่23 พฤศจิกายน 2538 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิกถอนรายการจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวที่ทำในวันเดียวกันหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่า สัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1469 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 มีผลบังคับหรือไม่และโจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2หรือไม่ สำหรับปัญหาข้อแรกข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2โอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 14,696,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคารแหลมทอง จำกัด สาขาถนนหลังสวน จำนวน 14,000,000 บาท ชำระค่าที่ดิน ส่วนที่เหลืออีก 696,000 บาท ชำระเป็นเงินสด วันเดียวกันจำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ตามหลักฐานภาพถ่ายเอกสาร จ.16 ถึง จ.18 ต่อมาปรากฏว่าเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายชำระค่าที่ดิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ที่ 2 จึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ฐานฉ้อโกงและได้แจ้งขออายัดที่ดินพิพาทที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาลำลูกกา โจทก์ที่ 2 และนายหมัด อี๊สอาด เบิกความว่าประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2538 นางวรรณาไม่ทราบนามสกุลมาติดต่อขอซื้อที่ดินพิพาท ต่อรองราคากันได้ข้อยุติที่ราคา 14,696,000 บาท วันที่ 21 เดือนเดียวกันนางวรรณา นางเกตุ นายเล็ก ไม่ทราบนามสกุล รับโจทก์ที่ 2 กับนายหมัดไปเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขางามวงศ์วาน โดยนางเกตุเป็นคนออกเงินให้ 1,000 บาท บุคคลทั้งสามอ้างว่าเพื่อจะได้นำเงินค่าที่ดินมาเข้าบัญชี หลังจากนั้นอีก 2 วัน จำเลยที่ 1 กับนายเล็กมารับโจทก์ที่ 2 กับนายหมัดไปโอนที่ดินโดยพาไปที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขางามวงศ์วาน ซึ่งเปิดบัญชีไว้และบอกว่าจะนำเงินเข้าบัญชีให้ก่อน จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คของธนาคารแหลมทอง จำกัด สาขาถนนหลังสวนเป็นเงิน 14,000,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 นำเข้าบัญชี แล้วพาโจทก์ที่ 2 กับนายหมัดไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาลำลูกกา นายเล็กให้นายหมัดนั่งรอในรถดูแลสมุดเงินฝาก ส่วนจำเลยที่ 1 เรียกโจทก์ที 2 ให้ไปลงลายมือชื่อในเอกสารหลายฉบับหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้มอบเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 696,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้วบอกให้กลับบ้านได้ ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2538 ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขางามวงศ์วาน มาสอบถามโจทก์ที่ 2 ที่บ้านว่าไปสำนักงานที่ดินทำไม เมื่อทราบว่าโจทก์ที่ 2 ไปโอนที่ดินผู้จัดการธนาคารก็บอกว่าถูกหลอกแล้ว เพราะเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้โจทก์ที่ 2 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นอกจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 และนายหมัดดังกล่าวมาแล้ว โจทก์ทั้งสองยังมีหลักฐานสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขางามวงศ์วาน เอกสารหมาย จ.15 แสดงรายละเอียดว่าในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 มีการนำเช็คจำนวนเงิน 14,000,000 บาทฝากเข้าบัญชีของโจทก์ที่ 2 และนายหมัดจริง แต่ต่อมาวันที่ 27 เดือนเดียวกัน ก็มีการถอนเงินจำนวนดังกล่าวออกไปเนื่องจากธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน และภาพถ่ายเอกสารเช็คซึ่งจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายแก่โจทก์ที่ 2 รวมทั้งใบคืนเช็คระบุว่าบัญชีปิดแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.19 พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อ แม้ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.16 จะระบุว่าคู่สัญญาตกลงซื้อขายที่ดินกันในราคา 2,000,000 บาทก็มิได้เป็นข้อพิรุธ เพราะในทางปฏิบัติคู่สัญญาซื้อขายที่ดินมักจะแจ้งราคาที่ดินที่ซื้อขายกันตามราคาประเมิน เพื่อประโยชน์ในการชำระค่าภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินทั้ง ๆ กรณีดังกล่าวมิใช่การนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ทำลายนิติกรรมการซื้อขายโดยอ้างว่าถูกจำเลยที่ 1 ใช้อุบายหลอกลวง นอกจากนี้นายปรีชา ตั้งจิตรักษาพร สมุหบัญชีธนาคารแหลมทอง จำกัด สาขาถนนหลังสวน พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า เช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเข้าบัญชีโจทก์ที่ 2 กับนายหมัดเพื่อชำระค่าที่ดิน สั่งจ่ายเงินจากบัญชีกระแสรายวันของห้างหุ้นส่วนจำกัดพัฒนากิจเอเซียซัพพลาย เงื่อนไขการสั่งจ่ายต้องมีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 พร้อมประทับตราสำคัญ แต่ปรากฏว่าเช็คดังกล่าวไม่มีการประทับตราคงมีแต่เพียงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าบัญชีปิดแล้ว ทั้งได้ความว่าเงินในบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดพัฒนกิจเอเซียซัพพลายเหลืออยู่เพียง 600 บาท กรณีดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1วางแผนการหลอกลวงโจทก์ทั้งสองมาตั้งแต่ต้น แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะซื้อที่ดินพิพาทอย่างแท้จริง เพียงแต่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากที่ดินพิพาท โดยอาศัยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของโจทก์ที่ 2 กับนายหมัดแสร้งทำให้คนทั้งสองเข้าใจว่า จำเลยที่ 1โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ให้แล้ว ซึ่งหากโจทก์ที่ 2 และนายหมัดเข้าใจดีว่าการสั่งจ่ายเช็คเข้าบัญชีจะมีผลสมบูรณ์สามารถเบิกเงินได้จะต้องรอให้เช็คเรียกเก็บเงินได้เสียก่อน การจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทก็คงจะไม่เกิดมีขึ้น ต่อมาหลังจากที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินและมีการขออายัดที่ดินพิพาทแล้ว นายประสิทธิ์ รักสลามทนายโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยทั้งสองให้จดทะเบียนเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดิน แต่ไม่สามารถติดต่อจำเลยทั้งสองได้ โดยปรากฏหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.4ถึง จ.7 ว่า บ้านจำเลยที่ 1 ปิด ส่วนบ้านจำเลยที่ 2 ไม่สามารถหาบ้านเลขที่ได้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 หลบหนีไปแล้ว จากพฤติการณ์ดังกล่าวการแสดงเจตนาซื้อขายที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นไปโดยถูกจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลหลอกลวง นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 แม้ตามฟ้องโจทก์จะมิได้บรรยายว่าการแสดงเจตนาขายที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองเกิดขึ้นเพราะกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้ความว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าที่ดินก็เพราะมีเจตนาตั้งใจหลอกลวงโจทก์ทั้งสองมาตั้งแต่ต้นจึงย่อมเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์ทั้งสองได้ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 1 ใช้กลอุบายหลอกลวงโจทก์ปกปิดข้อความจริงมาตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 1จะซื้อที่ดิน มีเจตนาไม่ชำระราคาที่ดิน ทั้งจัดการขายฝากที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันเดียวกับที่จดทะเบียนซื้อขาย ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ปกปิดล้วนเป็นสาระสำคัญถึงขนาดที่ถ้ามิได้มีการปกปิดเช่นนั้น การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทก็คงมิได้เกิดขึ้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นเรื่องการทำนิติกรรมจดทะเบียนซื้อขายที่ดินอันเป็นโมฆียะ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรม ย่อมถือว่าโจทก์ได้บอกล้างโมฆียะกรรมนั้นแล้ว นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงให้โจทก์ทั้งสองขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินมาในวันเดียวกันก็จดทะเบียนขายฝากแก่จำเลยที่ 2 ทันที ที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ทั้งสองมีราคา14,696,000 บาท แต่กลับขายฝากกันในราคาเพียง 5,715,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่ดินมาก นายอำพล พลพาณิชย์ สามีจำเลยที่ 2 อ้างว่าตนเองเป็นคนออกเงินค่าที่ดินแต่กลับให้จำเลยที่ 2 ซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจโต จนกระทั่งไม่สามารถมาเบิกความต่อศาลในฐานะคู่ความได้เป็นผู้ลงชื่อรับซื้อฝากที่ดิน ทั้งตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.17 ระบุว่า จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 5229 แขวงดินแดง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร แต่ในชั้นที่ทนายโจทก์ติดต่อส่งหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินตามเอกสารหมาย จ.3จ.4 พนักงานไปรษณีย์หาบ้านเลขที่ดังกล่าวไม่พบนายวิชาญ เกริกอาชาชัย บุตรชายจำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 พักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 5159 แขวงดินแดง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร แต่ตามสำเนาทะเบียนบ้าน แต่มีชื่อจำเลยที่ 2 อยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 5223 แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.2 เป็นไปได้ว่า จำเลยที่ 2 แจ้งหลักฐานที่อยู่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเพื่อมิให้ติดตามตัวได้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงถึงพฤติกรรมของจำเลยที่ 2 กับพวกมีข้อพิรุธน่าสงสัย เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทมาจากโจทก์ทั้งสองด้วยวิธีการอันไม่ถูกต้องชอบธรรม กรณีของจำเลยที่ 2 จึงเข้าข่ายของบุคคลภายนอกผู้ได้ที่ดินมาโดยไม่สุจริต การบอกล้างโมฆียะกรรมของโจทก์ทั้งสองเพราะถูกกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 ย่อมยกเป็นข้อต่อสู้ตลอดไปจนถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิขอเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share