คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6393/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามกรมธรรม์ประกันภัยระบุจำนวนเงินจำกัดความรับผิด กรมธรรม์ประกันภัยนี้ให้ความคุ้มครองเฉพาะสัญญาข้อที่มีจำนวนเงินจำกัดความรับผิดระบุไว้เท่านั้น ในข้อสัญญาดังกล่าวไม่ระบุถึงต้องรับผิดในส่วนค่าขาดไร้อุปการะด้วยการที่จำเลยจ่ายเงินไปเห็นได้ชัดว่าเป็นค่าปลงศพเท่านั้น การจ่ายเงินค่าซ่อมรถก็เป็นค่าเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งค่าเสียหายทั้งสองรายการนี้ต้องจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับจำเลยร่วมเท่านั้น ในการทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม ประกอบมาตรา 1563 ไม่ว่าในขณะเกิดเหตุผู้ตายจะได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองจริงหรือไม่ และในอนาคตจะอุปการะกันหรือไม่ การที่โจทก์ทั้งสองถอนฟ้องจำเลยร่วมที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขอให้ศาลเรียกเข้ามานั้น ไม่มีผลเกี่ยวกับจำเลยทั้งห้าเพราะคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ไม่ใช่ค่าปลงศพและค่าเสียหายต่อทรัพย์สินของกรมธรรม์ประกันภัย จึงไม่เป็นการปลดหนี้ให้แก่จำเลยร่วมอันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 หลุดพ้นจากความรับผิดในส่วนนี้ ทั้งการที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยร่วมว่าไม่ติดใจเรียกร้องอะไรอีกนั้น เป็นกรณีเฉพาะการประนีประนอมยอมความกันในเรื่องค่าซ่อมรถเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูจำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองขอถอนฟ้องสำหรับจำเลยร่วม อ้างเหตุว่าจำเลยร่วมชำระค่าสินไหมทดแทนเต็มตามสัญญาประกันภัยแล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำเลยจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยร่วมออกจารสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2542 (วันถัดจากวันฟ้อง) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าการที่จำเลยร่วมได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยแก่โจทก์ทั้งสองแล้วหนี้ละเมิดย่อมระงับไป ทั้งการที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยร่วมย่อมทำให้จำเลยทั้งห้าได้รับประโยชน์ ภาระหนี้ตามฟ้องจึงเหลือเพียง 48,000 บาท เท่านั้น เห็นว่าตามกรมธรรม์ประกันภัยระบุจำนวนเงินจำกัดความรับผิดว่า กรมธรรม์ประกันภัยนี้ให้ความคุ้มครองเฉพาะสัญญาข้อที่มีจำนวนเงินจำกัดความรับผิดระบุไว้เท่านั้น สัญญาหมวดที่ 2 ส่วนที่ 1 ข้อ 2 ความรับผิดตาม พ.ร.บ. 50,000 บาท หรือ 80,000 บาทต่อหนึ่งคน 10,000,000 บาทต่อหนึ่งครั้ง ข้อ 2.1 ความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะส่วนเกิน พ.ร.บ. 150,000 บาทต่อคน 1,000,000 บาทต่อหนึ่งครั้ง ข้อ 2.3 ความรับผิดต่อทรัพย์สิน 1,000,000 บาทต่อหนึ่งครั้ง ในข้อสัญญาดังกล่าวไม่ระบุถึงต้องรับผิดในส่วนค่าขาดไร้อุปการะด้วย นอกจากนี้ความรับผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประกันภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 (เดิม) บัญญัติว่า ค่าเสียหายเบื้องต้นในกรณีความเสียหายต่อชีวิตหมายความว่า ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ ตามรายการและจำนวนเงินที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 20 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งก็ไม่หมายถึงค่าขาดไร้อุปการะอีก การที่จำเลยร่วมจ่ายเงินไป 135,000 บาท ก็ระบุว่าค่าปลงศพตาม พ.ร.บ.65,000 บาท ค่าปลงศพ ร.ย. 2.1 (ข้อ 2.1) 70,000 บาท เห็นได้ชัดว่าเป็นค่าปลงศพเท่านั้น การจ่ายค่าซ่อมรถเป็นเงิน 17,000 บาท ก็เป็นค่าเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งค่าเสียหายทั้งสองรายการนี้ต้องจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับจำเลยร่วมเท่านั้นในการทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม ประกอบมาตรา 1563 ไม่ว่าในขณะเกิดเหตุผู้ตายจะได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และในอนาคตจะอุปการะกันหรือไม่ การที่โจทก์ทั้งสองถอนฟ้องจำเลยร่วมที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขอให้ศาลเรียกเข้ามานั้น ไม่มีผลเกี่ยวกับจำเลยทั้งห้าเพราะคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ไม่ใช่ค่าปลงศพและค่าเสียหายต่อทรัพย์สินตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงไม่เป็นการปลดหนี้ให้แก่จำเลยร่วมอันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 หลุดพ้นจากความรับผิดในส่วนนี้ ทั้งการที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยร่วมว่าไม่ติดใจเรียกร้องอะไรอีกนั้น เป็นกรณีเฉพาะการประนีประนอมยอมความกันในเรื่องค่าซ่อมรถ 17,000 บาท เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นกรรมการผู้กระทำการในนามบริษัทเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ต้องผูกพันร่วมรับผิดด้วยเป็นส่วนตัว จึงต้องแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share