คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6386/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดลพบุรี) นัดสืบพยานโจทก์ เวลา 10 นาฬิกา โจทก์ไม่มาศาลตามนัด ศาลชั้นต้นรออยู่จนถึงเวลา 10.30 นาฬิกา จึงพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยื่นคำร้องว่ามีเหตุสมควรที่มาศาลตามนัดไม่ได้ ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ปรากฏว่าในวันนัด เมื่อผู้รับมอบอำนาจโจทก์ขับรถยนต์ออกจากบ้านพักที่กรุงเทพมหานคร รถยนต์ก็ปกติดี ถึงที่เกิดเหตุใช้เวลาประมาณ 45 นาที รถยนต์เสียใช้เวลาซ่อม 1 ชั่วโมงก็เสร็จ แสดงว่าสภาพขัดข้องไม่ร้ายแรงนัก เมื่อซ่อมรถยนต์เสร็จผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็ไม่ใช้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งมีอยู่หลายแห่งที่สะดวกติดต่อไปยังศาลจังหวัดลพบุรีเพื่อแจ้งข้อขัดข้องดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นเจ้าของสำนักงานทนายความ และรับจัดหาทนายความแก่โจทก์เดินทางไปเบิกความเป็นพยานโจทก์โดยลำพัง โดยไม่นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตัวไปด้วย นับเป็นเหตุบังเอิญที่ไม่น่าเกิดขึ้น เมื่อเดินทางไปถึงศาลจังหวัดลพบุรีเวลา 12.10 นาฬิกา พบเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์อีกบัลลังก์หนึ่งก็แจ้งแต่เพียงว่า ศาลนัดคดีนี้ช่วงเช้าแต่มาศาลไม่ทัน โดยไม่ได้แจ้งเรื่องรถยนต์ขัดข้อง ข้อที่โจทก์หยิบยกขึ้นมาล้วนไม่สมเหตุผล พฤติการณ์แสดงว่าฝ่ายโจทก์ไม่สนใจเวลานัดของศาล ไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม ป.อ. มาตรา 358, 362, 365, 83, 84, 90 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในข้อหาความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 และ 365 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ในระหว่างนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 เวลา 10 นาฬิกา ฝ่ายโจทก์ทั้งสามไม่มาศาลตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นรออยู่จนถึงเวลา 10.30 นาฬิกา จึงพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181
ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังว่านายวัฒนาผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามเดินทางโดยรถยนต์ปิกอัพส่วนตัวออกจากบ้านพักที่กรุงเทพมหานครเวลาประมาณ 8.30 นาฬิกา ไปถึงระหว่างประตูน้ำพระอินทร์กับอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เวลาประมาณ 9.15 นาฬิกา ได้เกิดมีเหตุรถยนต์ขัดข้องไม่สามารถขับต่อไปได้ เห็นว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามขับรถยนต์ออกจากบ้านมาถึงที่เกิดเหตุใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที ได้อย่างปกติดี การที่รถยนต์เกิดเสียงดังช่วงล้อหน้าและรถยนต์มีอาการขับกินไปทางด้านซ้ายทันที เชื่อว่าไม่ถึงขนาดไม่สามารถขับรถยนต์แล่นไปได้เสียทีเดียวเนื่องจากว่ามีช่างได้เข้ามาช่วยซ่อมแซมรถยนต์ใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ ก็เรียบร้อย แสดงว่าสภาพรถยนต์ที่เกิดเหตุขัดข้องดังกล่าวไม่ร้ายแรงนัก ทั้งไม่ได้ความว่าช่างผู้นี้เป็นใครมาจากที่ไหนในอันที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามจะสามารถอ้างอิงถึงเหตุที่ว่านี้ ตามข้ออ้างของฝ่ายโจทก์ทั้งสามได้ความว่าบริเวณที่รถเสียอยู่ห่างจากอำเภอวังน้อยประมาณ 10 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจังหวัดลพบุรีประมาณ 100 กิโลเมตร เมื่อซ่อมรถยนต์จนเรียบร้อยแล้ว เหตุใดจึงไม่รีบเดินทางเข้าไปในเขตอำเภอวังน้อยเพื่อใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะหรือสถานีบริการน้ำมันที่มีอยู่หลายแห่งที่สะดวกและรวดเร็วติดต่อไปยังศาลจังหวัดลพบุรีเพื่อแจ้งเหตุขัดข้องดังกล่าว นอกจากนั้นการที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของสำนักงานทนายความและเป็นผู้รับจัดหาทนายความให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีนี้เดินทางไปเบิกความเป็นพยานโจทก์โดยลำพังแต่ไม่นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้ประจำสำหรับใช้ติดต่อธุระติดตัวไปด้วยโดยอ้างว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่กับโจทก์ที่ 3 จนไม่สามารถติดต่อกับใครได้นับว่าเป็นเหตุความบังเอิญที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เมื่อผู้รับมอบอำนาจมาถึงศาลเวลา 12.10 นาฬิกา ได้พบกับนางลาวัณย์เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์อีกบัลลังก์หนึ่งในเวลา 12.10 นาฬิกา นางลาวัณย์พยานโจทก์ทั้งสามเบิกความแต่เพียงว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามบอกว่าศาลนัดพิจารณาคดีนี้ในช่วงเช้าแต่มาศาลไม่ทัน ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามหาได้แจ้งแก่นางลาวัณย์ตามสมควรว่าเหตุที่มาไม่ทันเนื่องจากรถยนต์ขัดข้องอันจะเป็นเหตุเดียวกันกับที่จะรีบไปยื่นคำแถลงต่อศาล เมื่อประมวลเหตุที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามหยิบยกขึ้นมาดังกล่าวทั้งหลายแล้วล้วนแล้วแต่ไม่สมเหตุสมผล พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสาม ทนายโจทก์ทั้งสามและผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามไม่มาศาลตามกำหนดนัดในเวลา 10 นาฬิกา เป็นเพราะมิได้สนใจเวลานัดของศาล และที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามมาศาลเมื่อล่วงพ้นเวลานัดนั้นก็มิได้มีเหตุอันสมควรที่ศาลจะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share