แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในขณะที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกัน ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ทราบว่ามีผู้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่จะซื้อขายกันนี้ และตามสัญญาดังกล่าวโจทก์จะต้องชำระเงินค่าที่ดินงวดสุดท้ายในวันที่ 30 เมษายน 2517 แล้วจำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ทันที แต่ในระหว่างนั้นปรากฏว่าจำเลยกำลังเป็นความอยู่กับผู้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ จำเลยจึงไม่มีทางที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้ไม่ว่าโจทก์จะชำระหนี้ตามกำหนดหรือไม่ ทั้งต่อมาเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่จะต้องชำระเงินงวดสุดท้ายแล้วต่างฝ่ายต่างก็เพิกเฉยต่อกัน โดยโจทก์ไม่ได้ขอชำระหนี้และให้จำเลยโอนที่ดินให้ ส่วนจำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ตามกำหนด ต่างฝ่ายต่างปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาเป็นเวลา 3 ปีเศษ โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าต่างฝ่ายต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว สัญญาจะซื้อขายที่ดินที่โจทก์จำเลยทำกันไว้จึงไม่มีผลผูกพันต่อไป โจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยได้รับมัดจำไปเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือยอมให้โจทก์ชำระเป็นสองงวด งวดสุดท้ายภายในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๑๗ เมื่อโจทก์ชำระค่าที่ดินครบถ้วนแล้ว จำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ทันที ต่อมาจำเลยขอผัดผ่อนการชำระเงินตามสัญญา เนื่องจากไม่สามารถโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ได้ เพราะมีผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ร้อง จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์รอมาเป็นเวลา ๒ ปีเศษ จำเลยก็ไม่สามารถโอนที่ดินให้โจทก์ได้ ในที่สุดผู้จะซื้อที่ดินต่อจากโจทก์ไม่ประสงค์จะซื้ที่ดินจากโจทก์อีกต่อไป โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ให้จำเลยคืนเงินมัดจำแก่โจทก์จำเลยไม่คืน จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยขอผ่อนผันการรับชำระเงินจากโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระค่าที่ดินและรับโอนกรรมสิทธิ์ภายในกำหนด จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำเสียได้ การที่มีผู้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวไม่เป็นเหตุขัดข้องที่จำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัย เหตุที่ไม่โอนที่ดินกันเพราะโจทก์ยังไม่ได้ชำระราคา จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในขณะที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโดยโจทก์วางเงินมัดจำไว้แก่จำเลยเป็นจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ทราบว่ามีผู้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่จะซื้อขายกันนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ตามสัญญาดังกล่าวโจทก์จะต้องชำระเงินค่าที่ดินภายในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๑๗ งวดหนึ่ง และวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๑๗ เป็นงวดสุดท้ายอีกงวดหนึ่ง แล้วจำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ทันที แต่ในระหว่างนั้นปรากว่าจำเลยกำลังเป็นความอยู่กับผู้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยจึงไม่มีทางที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้ไม่ว่าโจทก์ชำระหนี้ตามกำหนดนั้นหรือไม่ ต่อมาเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่จะต้องชำระงวดสุดท้ายแล้วต่างฝ่ายต่างก็เพิกเฉยต่อกัน โดยโจทก์ไม่ได้ขอชำระหนี้และให้จำเลยโอนที่ดินให้ ส่วนจำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ตามกำหนด ต่างฝ่ายต่างปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาเป็นเวลา ๓ ปีเศษ โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยว่า ต่างฝ่ายต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้ว สัญญาจะซื้อขายที่โจทก์จำเลยทำกันไว้จึงไม่มีผลผูกพันต่อไป ดังนั้น โจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ ๑๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่จำเลยได้รับคำบอกกล่าว (โจทก์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยได้รับคำบอกกล่าว) จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลเป็นพับ