คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1879/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์แสดงให้เห็นที่มาของตัวเลขค่าเสียหาย104,347 บาท ว่าเป็นค่าอะไหล่และค่าซ่อมจำนวนหนึ่ง ค่ายกลากรถจำนวนหนึ่ง และค่าดอกเบี้ยอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเงินสามจำนวน เมื่อรวมกันแล้วจะเป็น 104,347 บาท ดังนี้ การที่มีข้อความในวงเล็บต่อท้าย 104,347 บาท ว่า (หนึ่งหมื่นสี่พันสามร้อยสี่สิบเจ็ดบาทถ้วน) นั้น จึงเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด กรณีเช่นนี้มิใช่กรณีจำนวนเงิน หรือปริมาณในเอกสารแสดงไว้ทั้งตัวอักษรและตัวเลข ถ้าตัวอักษรกับตัวเลข ไม่ตรงกันและมิอาจหยั่งทราบเจตนา อันแท้จริงได้ ให้ถือเอาจำนวนเงินหรือปริมาณที่เป็นตัวอักษร เป็นประมาณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 12 เพราะฟ้องโจทก์สามารถหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงโดยชัดเจนว่า โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายจำนวน 104,347 บาท ไม่ใช่ “หนึ่งหมื่นสี่พันสามร้อยสี่สิบเจ็ดบาทถ้วน” ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 102,742 บาท พร้อมดอกเบี้ยจึงไม่เกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน104,347 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินจำนวน 102,742 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 1ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 102,742 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นรับมาแต่เพียงว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์มีจำนวนเกินคำขอของโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คำขอท้ายฟ้องโจทก์ข้อ 1 โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยพิมพ์จำนวนตัวเลขและตัวอักษรไม่ตรงกันตัวเลขพิมพ์ว่า “104,347 บาท” ส่วนตัวอักษรพิมพ์ว่า “หนึ่งหมื่นสี่พันสามร้อยสี่สิบเจ็ดบาทถ้วน” คำขอดังกล่าวไม่อาจหยั่งทราบเจตนาที่แท้จริงของโจทก์ได้ว่า ต้องการให้ชำระค่าเสียหายเท่าใดกันแน่ ถือว่าเป็นคำขอท้ายฟ้องที่ไม่ชัดเจนจึงต้องถือตามตัวอักษรเป็นสำคัญ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า คำฟ้องโจทก์บรรยายไว้ว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุ นายลอง หอมหวล ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-8426 สุรินทร์ ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปตามถนนสายโชคชัย – เดชอุดม จากอำเภอหนองกี่มุ่งหน้าไปทางอำเภอประโคนชัย เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุ มีจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-3125 สุรินทร์ ของจำเลยที่ 2 สวนทางมาด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังล้ำเส้นกึ่งกลางถนนเข้ามาชนรถที่นายลองขับ ทำให้รถของนายลองที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์คันดังกล่าวไปเป็นจำนวนเงิน 101,492 บาท และค่ายกลากรถ 1,250 บาท รวมเป็นเงิน 102,742 บาท โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินถึงวันฟ้องเป็นเงิน1,605 บาท จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันหรือแทนกันใช้เงิน 104,347 บาทให้โจทก์ และในคำขอท้ายคำฟ้องระบุว่า ให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 104,347 บาท แล้วมีข้อความในวงเล็บว่า (หนึ่งหมื่นสี่พันสามร้อยยี่สิบเจ็ดบาทถ้วน) จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นที่มาของตัวเลขค่าเสียหาย 104,347 บาท ว่าเป็นค่าอะไหล่และค่าซ่อมจำนวนหนึ่งค่ายกลากรถจำนวนหนึ่ง และค่าดอกเบี้ยอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเงินสามจำนวนเมื่อรวมกันแล้วจะเป็น 104,347 บาท ที่มีข้อความในวงเล็บต่อท้าย 104,347 บาท ว่า (หนึ่งหมื่นสี่พันสามร้อยสี่สิบเจ็ดบาทถ้วน) นั้น จึงเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด กรณีเช่นนี้จึงมิใช่กรณีจำนวนเงินหรือปริมาณในเอกสารแสดงไว้ทั้งตัวอักษรและตัวเลข ถ้าตัวอักษรกับตัวเลขไม่ตรงกันและมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ให้ถือเอาจำนวนเงินหรือปริมาณที่เป็นตัวอักษรเป็นประมาณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 12 เพราะฟ้องโจทก์สามารถหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงโดยชัดเจนว่าโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายจำนวน 104,347 บาทไม่ใช่ “หนึ่งหมื่นสี่พันสามร้อยสี่สิบเจ็ดบาทถ้วน” ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 102,742 บาท พร้อมดอกเบี้ยจึงไม่เกินคำขอ
พิพากษายืน

Share