แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 บัญญัติว่า ในคดีอาญา ที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการจะฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แต่ถ้าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ฟ้องเป็นหนังสือก็ได้ และการฟ้องด้วยวาจานั้น ให้โจทก์แจ้งต่อศาล ถึงชื่อโจทก์ ชื่อ ที่อยู่ และสัญชาติของจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด โดยศาลเป็นผู้บันทึกใจความไว้เป็นหลักฐาน และให้คู่ความ ลงชื่อไว้ การฟ้องด้วยวาจาอันเป็นวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงจึงมีกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ และให้ศาลเป็นผู้บันทึกคำฟ้องไว้เป็นหลักฐาน ส่วนบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) เป็นกรณีที่ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียน หรือพิมพ์ฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่าคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดสระบุรีอันเป็นท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการ จึงย่อมนำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดสระบุรี ตามพระราชบัญญัติให้นำ วิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจา และศาลได้บันทึกใจความแห่งคำฟ้องไว้ โดยโจทก์และจำเลยได้ลงชื่อไว้แล้ว การฟ้องด้วยวาจาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒ จำคุก ๓ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒ วรรคหนึ่ง จำคุก ๒ ปี ลดโทษ ให้ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียน หรือพิมพ์ฟ้อง ไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘ (๗) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๙ บัญญัติว่า ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการจะฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แต่ถ้าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ฟ้องเป็นหนังสือก็ได้ และการฟ้องด้วยวาจานั้น ให้โจทก์แจ้งต่อศาลถึงชื่อโจทก์ ชื่อ ที่อยู่ และสัญชาติของจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด โดยศาลเป็นผู้บันทึกใจความไว้เป็นหลักฐาน และให้คู่ความลงชื่อไว้ ดังนั้น การฟ้องด้วยวาจาอันเป็น วิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงจึงมีกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ และให้ศาลเป็นผู้บันทึกคำฟ้องไว้เป็นหลักฐาน ส่วนบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘ (๗) เป็นกรณีที่ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียน หรือพิมพ์ฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่าคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดสระบุรีอันเป็นท้องที่ซึ่งยังมิได้มี ศาลแขวงเปิดทำการ จึงย่อมนำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและ วิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดสระบุรี ตาม พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๒๐ มาตรา ๓ ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจา และศาลได้บันทึกใจความแห่งคำฟ้องไว้ โดยโจทก์และจำเลยได้ลงชื่อไว้แล้ว การฟ้องด้วยวาจาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน .