คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3762/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่1ห้ามล้อรถยนต์บรรทุกเป็นระยะทางถึง50เมตรแล้วรถยนต์บรรทุกยังพุ่งข้ามเกาะกลางถนนไปชนรถยนต์ที่ผู้ตายขับสวนทางมาเป็นการแสดงแจ้งชัดอยู่ในตัวว่าจำเลยที่1ขับรถยนต์บรรทุกด้วยความเร็วสูงและโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงถึงขนาดข้ามเกาะกลางถนนไปขวางอยู่ในช่องเดินรถของผู้อื่นที่ไม่อาจจะคาดหมายได้ว่าจำเลยที่1จะขับรถเข้ามาเช่นนั้นดังนั้นเหตุที่เกิดจึงมิใช่เพราะความประมาทเลินเล่อของผู้ตายหากแต่เป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่1เพียงฝ่ายเดียว จำเลยที่1และที่3เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่2จำเลยที่3ใช้ชื่อจำเลยที่2ในการประกอบการขนส่งวันเกิดเหตุจำเลยที่2สั่งให้จำเลยที่1ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกทรายไปส่งให้ลูกค้าที่กรุงเทพมหานครและยอมรับว่าจำเลยที่1ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเพื่อกิจการขนส่งและผลประโยชน์ทางการค้าของจำเลยที่2หลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยที่2เป็นผู้เจรจาเรื่องค่าเสียหายกับโจทก์นอกจากนั้นจำเลยที่2มีชื่อเป็นผู้ประกอบการขนส่งโดยได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งเป็นการขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของจำเลยที่2เองดังนั้นแม้จำเลยที่2จะให้จำเลยที่3เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ในรถเท่านั้นส่วนกิจการขนส่งจำเลยที่2หาได้เลิกไปไม่จำเลยที่2ยังทำกิจการขนส่งร่วมกับจำเลยที่3จำเลยที่2จึงเป็นนายจ้างจำเลยที่1ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่1กระทำต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของนายประโชติ เปล่งวิทยาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 81-2805นครปฐม ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวโดยหาประโยชน์จากการใช้รถร่วมกัน จำเลยที่ 5 เป็นบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัยทั่วไป ในขณะเกิดเหตุได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 81-2805 นครปฐมเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531 เวลา 17.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 81-2805 นครปฐม ไปตามถนนสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี จากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดนครปฐมด้วยความเร็วสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจนไม่สามารถบังคับรถได้เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งข้ามเกาะกลางถนนเข้าชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5จ-2716 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายประโชติ เปล่งวิทยา เป็นผู้ขับแล่นสวนทางมาอย่างแรง เป็นเหตุให้รถยนต์ของนายประโชติเสียหายยับเยิน นายประโชตินางสาวพรประภา กาญจนรินทร์ ผู้นั่งโดยสารมาในรถถึงแก่ความตายและนางสาวดนิตา ภานุจรัส ผู้นั่งโดยสารมาในรถอีกคนหนึ่งบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดที่ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 31-32 ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ศาลจังหวัดนครปฐม พิพากษาลงโทษจำเลยจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 4 ปี ฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส ตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 3639/2531 โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการจัดการศพนายประโชติรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 94,151 บาท โจทก์ขาดไร้อุปการะเดือนละ 10,000 บาท ขณะถึงแก่ความตายนายประโชติ มีอายุเพียง58 ปี อาจมีชีวิตอยู่ได้อย่างน้อย 10 ปี เป็นเงินค่าขาดไร้อุปการะทั้งสิ้น 1,200,000 บาท รวมค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายและค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 1,294,151 บาท โจทก์ติดใจเรียกร้องเพียง 500,000 บาทและดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 10 เดือน 15 วัน โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยเพียง 32,812 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 532,812 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าชำระเงิน 532,812 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การได้ใจความรวมกันว่า เหตุคดีนี้มิได้เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว แต่ผู้ตายมีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ย หากจะต้องรับผิดแล้วก็รับผิดตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันทำละเมิด(วันที่ 17 มิถุนายน 2531) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์(แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องวันที่ 9 พฤษภาคม 2532ต้องไม่เกิน 32,812 บาท) ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ร่วมกันชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ว่า นายประโชติผู้ตายมีส่วนประมาทเลินเล่อในเหตุที่รถยนต์ชนกันคดีนี้ด้วยหรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ความตรงกันจากการนำสืบของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเสียหลักแล้วแล่นข้ามเกาะกลางถนนเข้าไปขวางถนนอีกฟากหนึ่งในช่องเดินรถของผู้ตาย จำเลยที่ 1 เบิกความว่า เป็นเพราะขณะนั้นฝนตกและมีรถยนต์บรรทุกอีกคันหนึ่งออกมาจากข้างทางด้านซ้ายตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด แต่ก็เป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟัง ทั้งไม่ใช่คำกล่าวอ้างว่าผู้ตายประมาทเลินเล่อแต่อย่างใดส่วนโจทก์มีร้อยตำรวจเอกวิชัย บุญส่ง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอนครชัยศรีเป็นพยานเบิกความว่าสภาพที่เกิดเหตุมีรอยห้ามล้อของรถยนต์บรรทุกยาวประมาณ 50 เมตรแล้วรถยนต์บรรทุกพุ่งข้างเกาะกลางไปชนกับรถยนต์ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งร้อยตำรวจเอกชัยยะ ศรีวัฒนา ประจักษ์พยานของโจทก์เบิกความว่าพยานขับรถยนต์ตามหลังรถยนต์ที่ผู้ตายขับในระยะห่าง 100 เมตร ซึ่งอยู่ในช่องเดินรถด้านซ้าย มีรถยนต์บรรทุกแล่นสวนทางมาคนละฝั่งถนนสายดังกล่าวเกาะกลางถนนมีต้นไม้ปลูกอยู่ รถยนต์บรรทุกแล่นด้วยความเร็วสูงเสียหลักข้ามเกาะกลางถนนแล้วมาชนรถยนต์ที่ผู้ตายขับซึ่งไม่สามารถหลบหลีกได้ทัน ขณะนั้นฝนยังไม่ตก พยานได้จอดรถเพื่อช่วยเหลือและจับคนขับรถยนต์บรรทุกคือจำเลยที่ 1 ไว้ได้ เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด และเบิกความมีเหตุผลเชื่อได้ว่าได้เบิกความไปตามความจริง การที่จำเลยที่ 1ห้ามล้อรถยนต์บรรทุกเป็นระยะทางถึง 50 เมตร แล้วรถยนต์บรรทุกยังพุ่งข้ามเกาะกลางถนนไปชนรถยนต์ที่ผู้ตายขับสวนทางมา เป็นการแสดงแจ้งชัดอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกด้วยความเร็วสูงและโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงถึงขนาดข้ามเกาะกลางถนนไปขวางอยู่ในช่องเดินรถของผู้อื่นที่ไม่อาจจะคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 1 จะขับรถเข้ามาเช่นนั้น ดังนั้นเหตุที่เกิดจึงมิใช่เพราะความประมาทเลินเล่อของผู้ตายหากแต่เป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 81-2805 นครปฐม และจำเลยที่ 2เป็นผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถยนต์บรรทุกค้นดังกล่าวโดยเข้าร่วมกิจการขนส่งกับจำเลยที่ 3 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 1นำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกดินไปส่งให้ลูกค้าที่กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 เบิกความรับว่า ได้ให้การต่อพนักงานบริษัทประกันภัยว่าไปทำงานตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 เคยเป็นลูกจ้างของตน จำเลยที่ 3 ใช้ชื่อจำเลยที่ 2 ในการประกอบการขนส่ง และจำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ตามเอกสารหมาย ป.จ.5 ว่า วันเกิดเหตุสั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกทรายไปส่งให้ลูกค้าที่กรุงเทพมหานคร และยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเพื่อกิจการขนส่งและผลประโยชน์ทางการค้าของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ก็เบิกความว่า หลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 เป็นผู้เจรจาเรื่องค่าเสียหายกับโจทก์ นอกจากนั้นยังได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์คือ นายสุริยนต์ เมืองการ ขนส่งจังหวัดนครปฐมซึ่งเบิกความประกอบหนังสือแสดงการจดทะเบียนเอกสารหมาย ป.จ.1 ว่า จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นผู้ประกอบการขนส่งโดยได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลซึ่งเป็นการขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของจำเลยที่ 2 เอง ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะให้จำเลยที่ 3เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ในรถเท่านั้น ส่วนกิจการขนส่งจำเลยที่ 2 หาได้เลิกไปไม่ จำเลยที่ 2ยังทำกิจการขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 จึงเป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อโจทก์ แต่เนื่องจากโจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 5ไปในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำนวน 50,000 บาท แล้วจึงยังคงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกร้องในคดีนี้อีกเพียง450,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์มิได้หักเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้รับไปจากจำเลยที่ 5 จำนวนดังกล่าวนั้นเป็นการไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 450,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share