คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2593/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์จำเลยตกลงหย่าขาดจากกัน แต่ตกลงเกี่ยวกับการปกครองบุตรชายผู้เยาว์ซึ่งอายุ 3 ปีไม่ได้ บุตรจึงอยู่ในความดูแล ของจำเลยต่อมาจำเลยสมรสใหม่ โจทก์จึงมาฟ้องขอให้ศาลถอนอำนาจปกครองบุตรจากจำเลยโดยให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียว จำเลยฟ้องแย้งขอให้ถอนอำนาจปกครองบุตรจากโจทก์ ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวนั้น เมื่อเหตุที่โจทก์ออกจากบ้านจำเลยไปก็โดยมีสาเหตุเกิดทะเลาะวิวาทกับจำเลย และก็ได้นำบุตรผู้เยาว์ไปด้วย หากแต่จำเลยเป็นฝ่ายไปเอาตัวผู้เยาว์กลับคืนมาเองโดยมีพฤติการณ์ในทำนองแย่งตัวผู้เยาว์กันอยู่ไปมาเช่นนี้ จะถือว่าโจทก์ทอดทิ้งผู้เยาว์ไปหาได้ไม่ ทั้งพฤติการณ์ที่โจทก์ติดต่อหาโรงเรียนมีชื่อ ให้ผู้เยาว์เข้าศึกษาเล่าเรียนได้ก็แสดงให้เห็นถึงความรักและห่วงใยในตัวผู้เยาว์ของโจทก์เป็นอย่างดี จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบหรือประพฤติชั่วร้ายแต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 1582 ที่จะถอนอำนาจปกครองผู้เยาว์ของโจทก์ได้ จึงให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของโจทก์และจำเลย โดยต่างปกครองช่วงระยะเวลาต่างวาระกัน โดยทุกช่วงภาคการศึกษาประจำปีภาคแรก ให้อยู่ในความปกครองของโจทก์ ช่วงภาคการศึกษา ประจำภาคหลัง ให้อยู่ในความปกครองของจำเลยสลับกันไปเช่นนี้จนกว่าบุตรผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 1 คนต่อมาโจทก์จำเลยตกลงหย่าขาดกัน แต่ตกลงเกี่ยวกับการปกครองบุตรผู้เยาว์ไม่ได้ ก่อนหย่าขาดกันประมาณ 1 ปี โจทก์จำเลยแยกบ้านกันอยู่จำเลยเป็นฝ่ายนำบุตรไปเลี้ยงดู โดยส่งไปอยู่กับบิดามารดาจำเลยที่ต่างจังหวัดและกีดกันโจทก์ไม่ยอมให้พบกับบุตรจนบัดนี้เป็นเวลา 3ปีเศษ เป็นการประพฤติที่ไม่ชอบด้วยศีลธรรมและใช้อำนาจปกครองบุตรโดยมิชอบ จำเลยจึงไม่สมควรจะเป็นผู้ปกครองบุตรต่อไป ขอศาลถอนอำนาจปกครองบุตรจากจำเลยให้โจทก์เป็นผูัใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียวให้จำเลยส่งมอบบุตรแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อบุตรซึ่งเกิดจากโจทก์จำเลยอายุได้ 1 ปี โจทก์ออกจากบ้านจำเลยและยินยอมให้บุตรอยู่ในความปกครองของจำเลย โจทก์ไม่สนใจอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตรจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้นานกว่า 4 ปี พฤติการณ์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยศีลธรรมอันดี จงใจละเลยไม่ปฏิบัติหน้ที่มารดาที่ดีต่อบุตร จำเลยและภรรยามีหน้าที่การงานมั่นคง มีความสามารถอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ถอนอำนาจปกครองโจทก์ ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยกีดกันไม่ให้โจทก์พบกับบุตรอันเป็นการประพฤติไม่ชอบด้วยศีลธรรมไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร โจทก์มีฐานะการงานมั่นคงขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เด็กชายณัฐวุฒิ ดีมาก ผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของโจทก์จำเลย โดยต่างปกครองช่วงระยะเวลาต่างวาระกันคือนับแต่วันมีคำพิพากษาจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2529 ให้ผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของจำเลยผู้เป็นบิดานับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2529 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2529 (ระยะเวลาเตรียมตัวเข้าศึกษาภาคแรกปีการศึกษา2529 ตลอดระยะเวลาภาคการศึกษาภาคแรกตามปกติ) ให้อยู่ในความปกครองของโจทก์ผู้เป็นมารดา โดยให้จำเลยส่งมอบตัวผู้เยาว์แก่โจทก์ภายในเวลา 12 นาฬิกาของวันที่ 30 เมษายน 2529 นับแต่วันที่1 พฤศจิกายน 2529 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2530 (ช่วงระยะเวลาเตรียมตัวเข้าศึกษาภาคหลังตามปกติ) ให้ผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของจำเลย โดยให้โจทก์ส่งมอบตัวผู้เยาว์แก่จำเลยภายในเวลา 12 นาฬิกาของวันที่ 31 ตุลาคม 2529 นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2530 จนถึงวันที่31 ตุลาคม 2530 (ช่วงระยะเวลาเปิดการศึกษาปีการศึกษา 2530ตลอดภาคแรก) ให้ผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของโจทก์ ให้จำเลยส่งมอบตัวผู้เยาว์แก่โจทก์ภายในเวลา 12 นาฬิกาของวันที่ 30 เมษายน2530 นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2530 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2531(ช่วงระยะเปิดภาคการศึกษาภาคหลังปีการศึกษา 2530) ให้ผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของจำเลย ให้โจทก์ส่งมอบตัวผู้เยาว์แก่จำเลยภายในเวลา 12 นาฬิกาของวันที่ 31 ตุลาคม 2530 ในปีการศึกษาของปีต่อ ๆ ไป ก็คงให้ถือหลักการในการแบ่งอำนาจปกครองผู้เยาว์ของโจทก์จำเลยตามกำหนดเวลาดังกล่าวมา คือทุกช่วงภาคการศึกษาประจำปีของภาคแรก ให้อยู่ในความปกครองของโจทก์ โดยถือเงื่อนไขกำหนดเวลาในการส่งมอบตัวผู้เยาว์จากฝ่ายหนึ่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่งเช่นเดียวกับที่ระบุมา จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566(5) คำขอนอกจากนี้ของทั้งสองฝ่ายให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นว่า โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี พ.ศ. 2522 เกิดบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กชายณัฐวุฒิ ดีมากผู้เยาว์ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2522 โจทก์กับจำเลยได้แยกกันอยู่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2523 จนในที่สุดจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2525 ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2527 จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับนางสางสุกัญญา เหลียวเลขา มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่ามีเหตุสมควรถอนอำนาจปกครองผู้เยาว์ของโจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาสรุปความได้ว่าโจทก์ได้จงใจทอดทิ้งผู้เยาว์ไปในขณะที่ผู้เยาว์อายุเพียง 1 ปี 1 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้เยาว์ต้องการความอบอุ่นเอาใจใส่โดยเฉพาะจากโจทก์ผู้เป็นมารดาซึ่งมีความผูกพันโดยสายเลือด แต่โจทก์กลับทอดทิ้งผู้เยาว์ไปเพียงด้วยข้ออ้างเหตุส่วนตัวเรื่องทะเลาะวิวาทกับจำเลย โดยมิได้คิดเสียสละอดทน ทั้งโจทก์มิได้ติดตามมาพบผู้เยาว์ จนผู้เยาว์ไม่รู้จักโจทก์ผู้เป็นมารดา ที่โจทก์อ้างว่าไม่ได้ไปเยี่ยมผู้เยาว์เพราะกลัวจำเลยทำร้ายก็ขาดเหตุผล เพราะโจทก์อาจไปเยี่ยมในช่วงที่จำเลยไปทำงานหรือไปพบผู้เยาว์ที่โรงเรียนก็ย่อมจะทำได้ ถือว่าโจทก์จงใจทอดทิ้งผู้เยาว์อันเป็นการประพฤติชั่วร้าย ศาลฎีกาเห็นว่า ทั้งโจทก์จำเลยต่างนำสืบรับกันว่าระหว่างอยู่กินเป็นสามีภรรยากันได้เกิดทะเลาะกันอยู่เสมอ บางครั้งถึงกับทำร้ายกันโดยต่างฝ่ายอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำร้ายตนรวมทั้งด่าทอไปถึงบิดามารดาด้วย เป็นเหตุให้โจทก์ต้องออกจากบ้านบิดามารดาจำเลยไป โจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยเคยไปงอนง้อขอให้โจทก์กลับมาอยู่ด้วยกันแต่ก็เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันอีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายที่จะแยกกันอยู่ จำเลยไม่ยอมให้โจทก์พาผู้เยาว์ไปจนโจทก์ต้องบอกจำเลยว่าจะพาผู้เยาว์ไปฝากเลี้ยงที่สโมสรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำเลยจึงยอมให้โจทก์นำผู้เยาว์ไป แต่ต่อมาก็กลับไปเอาตัวผู้เยาว์คืนอีก ซึ่งจำเลยก็ยอมรับในข้อนี้ เช่นนี้เห็นว่า การที่โจทก์ออกจากบ้านจำเลยไปก็โดยมีสาเหตุเกิดทะเลาะวิวาทกับจำเลยและก็ได้นำตัวผู้เยาว์ไปด้วย หากแต่จำเลยเป็นฝ่ายไปเอาตัวผู้เยาว์กลับคืนมาเองโดยมีพฤติการณ์ในทำนองแย่งตัวผู้เยาว์กันอยู่ไปมา จะว่าโจทก์ทอดทิ้งผู้เยาว์ไปหาได้ไม่ ทั้งพฤติการณ์ที่โจทก์ดำเนินการติดต่อจนสามารถทำให้ผู้เยาว์ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับแสดงให้เห็นถึงความรักและห่วงใยในตัวผู้เยาว์ของโจทก์เป็นอย่างดี ตามข้ออ้างของจำเลยรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบหรือประพฤติชั่วร้ายแต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ที่จะถอนอำนาจปกครองผู้เยาว์ของโจทก์ได้…”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share