คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6379/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยนำแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์เพียงลงลายมือชื่อไว้ไปกรอกข้อความว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของโจทก์ให้แก่จำเลยโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยหนังสือมอบอำนาจจึงเป็นเอกสารปลอม นิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทมิได้เกิดจากการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ประสงค์จะทำนิติกรรมนั้น นิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์มาเป็นของจำเลยดังกล่าวได้
ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโดยทำหนังสือมอบอำนาจปลอมแล้วนำไปดำเนินการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินส่วนของโจทก์มาเป็นของจำเลยที่ 1 อันเป็นเหตุให้นิติกรรมดังกล่าวไม่มีผลผูกพันโจทก์นั้น เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้มีการชี้สองสถานกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามที่เห็นสมควรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 142(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วน ฉบับวันที่ 26ตุลาคม 2538 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2539 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันออกค่าใช้จ่ายแทนโจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมเสร็จสิ้นแก่โจทก์

จำเลยทั้งสี่ให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินที่มีชื่อโจทก์คืนแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,423 ตารางวา โดยปลอดจากภาระผูกพันใด ๆ และให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการโอนและค่าภาษีที่ดินที่โจทก์ต้องโอนคืนแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,423 ตารางวา มีราคาตามราคาประเมินของสำนักงานที่ดินตารางวาละ 250 บาท คิดเป็นเงินจำนวน355,750 บาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนเนื้อที่จำนวนรวมทั้งหมด 8 ไร่ 60 ตารางวา แต่เพียงผู้เดียว โจทก์ไม่ได้ครอบครองหรือถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยทั้งสี่จำเลยทั้งสี่ไม่มีสิทธิฟ้องแย้งที่จะให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ที่ดินเนื้อที่จำนวน1,423 ตารางวา ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนตามโฉนดที่ดินเลขที่ 5913 เลขที่ดิน 268 ตำบลเหมืองใหม่ (หัวหาด) อำเภออัมพวาจังหวัดสมุทรสงคราม ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2538 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสี่จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าว ลงวันที่23 มกราคม 2539 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ให้โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับเด็กชายนิพนธ์ นิลเล็ก เช่นเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสี่หากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวนเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 21 สิงหาคม 2539) จนกว่าจะเพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวเสร็จสิ้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยโจทก์และจำเลยทั้งสี่ไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และนางบุญช่วย กอสนาน เป็นบุตรนางเกียว รอดแก้ว ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นน้องนางเกียว เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2530 โจทก์กับเด็กชายนิพนธ์นิลเล็ก บุตรนางบุญช่วยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 5913 ตำบลหัวหาด อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามเนื้อที่จำนวน 16 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา โดยซื้อจากเจ้าของเดิม ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนซื้อที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และวันที่ 23 มกราคม 2539 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 โดยให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์จำนวน 2,200 ส่วน จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 มีกรรมสิทธิ์จำนวนคนละ 353 ส่วน และจำเลยที่ 1 คงถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่ 1 ส่วน มีปัญหาที่เห็นควรวินิจฉัยในชั้นนี้เป็นประการแรกเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนซื้อที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของโจทก์และจดทะเบียนให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์กล่าวในคำฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 กระทำการปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์แล้วนำไปจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์แล้วนำไปจดทะเบียนให้โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทบางส่วนมาจากจำเลยที่ 1 เห็นว่า เรื่องหนังสือมอบอำนาจนี้จำเลยที่ 1 ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ดำเนินการโอนที่ดินส่วนของโจทก์มาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยทำเป็นนิติกรรมขายที่ดินเฉพาะส่วน จำเลยที่ 1 แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโจทก์ตกลงขายที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ เนื้อที่จำนวน 8 ไร่ 60ตารางวา เป็นเงินจำนวน 200,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยใช้หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อให้ไว้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน2530 แต่โจทก์ไม่ได้กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจำเลยที่ 1 ให้คนที่เดินอยู่ในสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสงครามเป็นผู้กรอกข้อความให้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 นำแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์เพียงลงลายมือชื่อไว้ไปกรอกข้อความว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยหนังสือมอบอำนาจจึงเป็นเอกสารปลอม การที่จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์มาเป็นของจำเลยที่ 1จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย นิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทดังกล่าวมิได้เกิดจากการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ประสงค์จะทำนิติกรรมนั้นนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์มาเป็นของจำเลยที่ 1ดังกล่าวได้ ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตโดยทำหนังสือมอบอำนาจปลอมขึ้นแล้วจำเลยที่ 1 นำไปดำเนินการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินส่วนของโจทก์มาเป็นของจำเลยที่ 1 อันเป็นเหตุให้นิติกรรมดังกล่าวไม่มีผลผูกพันโจทก์นั้นเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้มีการชี้สองสถานกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามที่เห็นสมควรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 142(5) เมื่อนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์มาเป็นของจำเลยที่ 1 ไม่ผูกพันโจทก์ ดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น จึงต้องถือว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นเลย จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิในที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนยกให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยให้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันต่อไปอีกได้ และเมื่อนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ไม่ผูกพันโจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนดังกล่าวเสียแล้ว คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนครึ่งหนึ่งเพื่อตนเองหรือไม่อีกเพราะแม้ผลการวินิจฉัยจะฟังว่าโจทก์มิได้ซื้อที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่งเพื่อตนเอง จำเลยทั้งสี่ก็ไม่อาจถือเอาความไม่สุจริตของจำเลยที่ 1 ที่ทำการปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์มาเป็นประโยชน์ในการจดทะเบียนทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์มาเป็นของจำเลยที่ 1 และจดทะเบียนทำนิติกรรมให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินส่วนดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมตามคำฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่เพียงว่า โจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด ในปัญหานี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้พยายามติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการถือกรรมสิทธิ์รวมให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์ดังเดิม แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาทเห็นว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องระบุเลยว่าฝ่ายจำเลยโต้แย้งการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของโจทก์อย่างไร และไม่ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ด้วยว่า หากฝ่ายจำเลยดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวแล้ว โจทก์จะได้ประโยชน์อย่างไรถึงจำนวนเดือนละ 10,000 บาทอีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ซึ่งตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า นางเกียวมารดาโจทก์อยู่อาศัยในที่ดินพิพาทและเป็นผู้เก็บเอาผลประโยชน์จากผลไม้ในที่ดินพิพาทตลอดมา โจทก์ทำการสมรสและย้ายออกไปจากที่ดินพิพาทตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2538 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์หรือเข้าเก็บผลประโยชน์จากที่ดินพิพาทไปดังนั้น เมื่อได้ดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการถือกรรมสิทธิ์รวมโดยแก้ไขสารบัญการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินพิพาทแล้ว ความเสียหายของโจทก์ย่อมเป็นอันระงับสิ้นไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share